"การแบ่งเกรดชาฝรั่ง"
โดย จงรักษ์ กิตติวรการ(ตี่)
โดย จงรักษ์ กิตติวรการ(ตี่)
ชาฝรั่งแบ่งเกรดตามรูปร่างและขนาด โดยไม่ได้สนใจคุณภาพของชา การแบ่งนี้แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ๒ กลุ่ม
คือ
๑) ชาใบ ในกระบวนการทำมักจะใช้วิธีการม้วน และนวดใบชาด้วยมือ แบ่งเป็นกลุ่ม
- Flowery Orange Pekoe (F.O.P) ไ่ม่เกี่ยวอะไรกับดอกไม้และส้ม แต่หมายถึงชาที่ทำจากยอดตูมของใบชาที่ยังไม่ได้คลี่เป็นใบ
- Orange Pekoe (O.P) เป็นชาที่ทำจากใบชาอ่อนใบแรกนับจากยอด ใบบางเล็ก ไม่มียอดชาบน
- Pekoe (Pek.) เป็นชาที่ทำจากใบชาใบที่ ๒ ที่นับจากยอด
- Souchong (Sou.) เป็นชาที่ทำจากใบชาที่แก่ขึ้น ได้แก่ ใบชาใบที่ ๓ และ ใบที่ ๔
ภาพแสดงใบชา พร้อมทั้งชื่อที่ใช้เรียกใบต่างๆของชา โดยใช้กันในชาอินเดีย และลังกา คำศัพท์ที่ใช้แม้มียืมคำมาจากภาษาจีน แต่ถูกใช้ในความหมายต่างออกไป ใบชาใบที่ ๓ นับจากยอดที่เรียกว่า Pekoe Souchong บางทีก็เรียก Souchong (first) ส่วนใบที่ ๔ นั้นบางทีก็เรียก Souchong (second)
๒) ชาหัก เกิดจากการผลิตชาโดยใช้เครื่องจักร ในกระบวนการจะมีการหั่นใบชาทำให้เกิดเศษแตกหัก เมื่อนำมาคัดแยกตามขนาดจะแบ่งเป็น
- Broken (B.) เป็นใบชาที่แตกหัก หยาบๆ
- Fannings (F.) เป็นเศษใบชาละเอียด
- Dust (D.) เป็นฝุ่นของชา ซึ่งมักจะเอามาบรรจุใส่ซอง tea bag เอาไว้ชงจุ่มน้ำร้อน
คำบอกขนาดที่แตกหักของชา จะถูกเอาไปประกอบเข้ากับชนิดของใบชาข้างต้นเป็นระบุเกรดของใบชา เช่น
- Broken Orange Pekoe (B.O.P.) เป็น Orange Pekoe ที่แตกหัก
- Broken Pekoe (B.P.) เป็น Pekoe ที่แตกหัก
- Broken Pekoe Souchong (B.P.S.) เป็น Pekoe Souchong ที่แตกหัก
- Broken Orange Pekoe Fannings (B.O.P.F.) เป็น Orange Pekoe ที่แตกหักเป็นเศษละเอียด
นอกจากนี้ยังอาจจะเจอการแบ่งเกรดชาที่จุกจิกมากมายเป็นการอวดสรรพคุณ เช่น FTGFOP (Finest Tippy Golden Flowery Orange Pekoe) Tippy คือ ชาเฉพาะยอดชา Golden หมายถึงยอดชาอ่อนที่มีขนสีทองปกคลุม ซึ่งก็มีคำย่อเสียดสีให้ว่า
"FTGFOP" ย่อจาก "Far Too Good For Ordinary People"
อย่างไรก็ดีพึงระลึกไว้เสมอว่า คำเหล่านี้ไม่ได้บอกคุณภาพทางรสชาติของใบชา เพราะรสชาติไม่ได้ขึ้นกับขนาดของใบอย่างเดียว หรือแม้แต่ยอดชาที่มาจากไร่เดียวกัน หากผ่านมือช่างชาที่ดี ก็จะกลายเป็นชาคุณภาพ หากผ่านมือของช่างชาที่เลว ต่อให้ยอดชาก็ย่อมด้อยค่าลงโดยปริยาย
No comments:
Post a Comment