โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
ศรีลังกาเป็นเกาะตั้งอยู่กลางมหาสมุทรอินเดีย ดูคล้ายหยดน้ำผึ้งที่หยดจากรวงผึ้งอินเดีย ลังกาและไทยมีการติดต่อกันมาแต่โบราณ นอกจากไทยจะรับพุทธศาสนาแบบเถรวาท ผ่านทางนครศรีธรรมราชแล้ว เราน่าจะมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมทั้งการกิน และภาษา จะว่าไปท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ก็มีโครงหน้าเหมือนชาวสิงหลเลยทีเดียว
ในด้านพันธุ์พืช ไทยและลังกาก็มีพืชพันธุ์คล้ายกันอยู่หลายอย่าง ทั้งมะแวง มะรุม ส้มโอ มะม่วงหิมพานต์ (รวมทั้งลิ้นจี่ ลำไย ที่ปัจจุบันสูญไปจากลังกาแล้ว) อาหารทั้งขนมจีน ขนมครก แกงคั่วสับปะรด และชื่อพืชหลายชนิดก็เรียกคล้ายกัน เช่น มะรุม สิงหลเรียก มอรุมก้า
จากร่องรอยทางโบราณคดีอันอลังการในเมืองโบราณหลายแห่ง น่าจะสัณนิษฐานได้ว่าลังกาเคยเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่รุ่งเรืองมาก่อน ในราศตวรรษที่ ๑๖ ที่ทั้งโปรตุเกส และดัตช์แผ่อิทธิพลเข้าควบคุมการค้าทางทะเลในย่านนี้ อาณาจักรแคนดี้ก็ยังสามารถดำรงอำนาจอธิปไตยทางการเมืองเอาไว้ได้ กระทั่้งอังกฤษเข้ายึดครองอินเดียในศตวรรษที่ ๑๘ และเข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จในลังกาได้ในปี คศ ๑๘๑๕
อังกฤษใช้ลังกาเป็นฐานในการปลูกกาแฟขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก เนื่องจากราคาในตลาดของเมล็ดกาแฟดีมาก การปลูกกาแฟในลังกาจึงขยายตัวมาก จนกระทั่งต่อมาเกิดการระบาดของเชื้อราในต้นกาแฟ ผลกำไรของไร่กาแฟลดลง จนต้องหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ในที่สุดก็มาสรุปที่ชา
อังกฤษเริ่มนำชาจากจีนเข้ามาทดลองปลูกในสวนพฤษศาสตร์ในปี ๑๘๒๔ ตามาด้วยชาจากอัสสัม และกัลกัตตา เข้ามาทดลองปลูก การปลูกชาเพื่อเชิงพาณิชย์ เริ่มในปี ๑๘๖๗ โดย James Taylor ที่ไร่ Loolecondera เมือง Kandy และสามารถผลิตชาไปขายในลอนดอนปริมาณ ๑๐ กก. ทำให้เกิดกระแสปลูกชาทดแทนกาแฟที่กำลังประสบปัญหาโรคระบาด และกำไรต่ำ ในปี ๑๘๗๑ การปลูกชาก็ได้ขายไปทั่วลังกา ส่งผลให้ขาดแรงงานในการปลูกชา เนื่องจากชาวสิงหลในลังกา กินอยู่พอเพียง มีข้าวปลาสมบูรณ์ ไม่นิยมเป็นลูกจ้าง อังกฤษจึงต้องหันไปนำเข้าแรงงานทมิฬมาจากอินเดีย ซึ่งมีชีวิตที่แร้นแค้นกว่ามาก ผลจากการนำเข้าแรงงานทมิฬ และนโยบายแบ่งแยกและปกครองแบบอังกฤษ ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาวสิงหล และทมิฬในลังกาต่อมาอีกยาวนาน
พื้นที่ปลูกชาในลังกามีอยู่หลักๆ ๖ พื้นที่ คือ
- Nuwara Eliya
- Dimbula
- Kandy
- Uda Pussellawa
- Uva Province ได้แก่ชาที่ผลิตในเมือง Badulla, Bandarawela และ Haputale
- Southern Province ได้แก่ชาที่ผลิตในเมือง Galle, Matara และ Mulkirigala
ในลังกาปลูกชาทั้งชาที่สูง จนถึงชาพื้นราบ ชาที่ปลูกในที่สูงกว่ามักจะให้น้ำชาที่สีอ่อนกว่า มีรสที่ละเมียด และมีความฝาดน้อยกว่าชาที่ปลูกในพื้นที่ราบ ซึ่งให้ชาสีเข้ม รสฝาด บาด และเสียดแทง
หากจะแบ่งชาศรีลังกาตามกระบวนการผลิต แรกเริ่มเดิมทีในสมัยอาณานิคมลังกาผลิตชาที่ผ่านการออกซิไดซ์ และมีสีเข้ม ภาษาทางเทคนิคเรียกกันว่า ชาแดง (แต่อังกฤษเรียก black tea) แต่ในปัจจุบันนอกจากจะผลิตชาแดงแล้ว ลังกายังผลิตชาเขียว และชาขาวอีกด้วย
No comments:
Post a Comment