30 April 2013

ชาเพื่อสุขภาพ

ชาเพื่อสุขภาพ

                             โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

หากเชื่อตามที่ คาคุโซ โอกาคุระ เขียนเอาไว้ในหนังสือ book of teaมนุษยชาติรู้จักชาในฐานะยารักษาโรคก่อนต่อมาจึงปรับปรุงชาให้เป็นเครื่องดื่ม ในฐานะของยา เรามุ่งเอาฤทธิ์ในการรักษา ส่วนเครื่องดื่มนั้นเราให้ความสำคัญที่รสชาติชาเริ่มมีสถานะเป็นเครื่องดื่มเมื่อปลายสมัยฮั่น ซึ่งก็ล่วงมาแล้วกว่า ๒๐๐๐ ปีในช่วง ๒๐๐๐ ปีมานี้ ชาถูกปรับปรุงอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งเอาสุนทรียรสจนปัจจุบันมีชาที่แตกแขนงไปในวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ชาจากจีนที่เข้าไปในทิเบตตั้งแต่สมัยถังถูกปรับเปลี่ยนโดยต้มใบชาผสมกับเกลือและเนยจามรีโดยใช้ตะบันไม้ตีให้ชากับเนยรวมเป็นเนื้อเดียวกันเป็นชารสมันเค็มที่ให้พลังงานความอบอุ่นและชดเชยเกลือให้คนที่อาศัยบนที่ราบสูงชาเขียวป่นที่ผ่านจากจีนเข้าสู่ญี่ปุ่นในยุคซ่ง ถูกปรับปรุงเทคนิคการบดใบชาเป็นผงละเอียดรสชาติที่ละเมียด เมื่อตีให้รวมเข้ากับน้ำร้อนจนขึ้นฟองมีกลิ่นหอมสัมผัสละเอียดนุ่มลื่น รสขมอมหวานและลุ่มลึกในวัฒนธรรม  ชาใบชงน้ำร้อนนับพันชนิดที่จีนค่อยๆคิดทำขึ้นให้กลิ่นรสหลายหลายสีสันฉูดฉาดมีชีวิตชีวา จนชาแดงที่ชาติตะวันตกปรุงกลิ่นให้เกิดความหลากหลายโดยเติมผลไม้หรือสมุนไพรอื่นๆผสมเข้ากับใบชา   ช่วง๒๐๐๐ ปีของมนุษยชาติที่ปรับปรุงชาจนเป็นเครื่องดื่มที่มีกลิ่นรสละเมียดที่อาจพาให้เกิดจินตภาพที่เพริดแพร้ว และความสุขอย่างประณีต

เมื่อกระแสสุขภาพมาแรงสุขภาพถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขายชา ทำให้ชาที่ก้าววิวัฒนาการมากว่า ๒๐๐๐ปีในฐานะเครื่องดื่มที่อุดมด้วยวัฒนธรรมและรสอันละเมียดกลับถูกมองในฐานะของยาที่ดิบเถื่อนเช่นชายุคบรรพกาล จะขายชาสักทีอะไรอะไรก็อ้างสุขภาพ เมื่อเห็นโฆษณาชาเพื่อสุขภาพครั้งใด ก็อดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบเหมือนคนขายแปรงสีฟันที่โฆษณาว่าแปรงที่ขายใช้ขัดส้วมได้ หากผมต้องการแปรงสำหรับใช้ขัดส้วมผมก็คงซื้อแปรงขัดส้วมไม่ซื้อแปรงสีฟันไปขัดส้วม อีกทีก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าแปรงที่เขาขายอยู่เป็นแปรงสีฟันจริงหรือที่แท้มันคือแปรงขัดส้วม

No comments:

Post a Comment