"ชาที่ชอบ ชาที่ใช่"
โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
จากที่มีลูกค้านักชิมชาสาวสิงคโปร์ ได้มาเยี่ยมเยียนที่ร้านและทดลองชิมชาของร้านไปสองตัว เธอได้เขียนความเห็นของเธอต่อร้านเราในบล็อกของเธอและหนึ่งในความเห็นต่อชาที่ดื่มเธอว่า เธอชอบชาตัวหนึ่ง ส่วนอีกตัวหนึ่งของที่ร้านเรายังดีไม่ถึงระดับที่เธอดื่ม
ความเห็นของเธอทำให้ต้องทบทวนอะไรหลายเรื่อง เรื่องแรกคงเป็นเรื่องรสนิยมคนเราแต่ละคนมีรสนิยมที่แตกต่างกัน สำหรับอาหารบางคนชอบอาหารรสจัดจ้านหลายรสแบบไทยๆบางคนชอบอาหารรสจางๆเรียบง่ายแบบญี่ปุ่นบางคนชอบรสอันซับซ้อนวิจิตรและเข้มข้นของเครื่องเทศแบบอินเดียการที่คนๆ หนึ่งชอบอาหารไทย และกินอาหารฝรั่งไม่ได้เลย ก็ไม่ได้แปลว่าอาหารไทยจะอร่อยเสมอและอาหารฝรั่งจะหาอร่อยไม่เจอเลย แน่นอนอาหารในวัฒนธรรมหนึ่งๆย่อมมีดีกับเลวปะปนระคนกันอยู่เสมอเพียงแต่อาหารที่ถูกปาก อาจจะรู้สึกอร่อย หรือยอมรับกินได้ในระดับที่ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับวัฒนธรรมอาหารในวัฒนธรรมที่ไม่ถูกปาก
เรื่องรสนิยมของชาเป็นเรื่องที่เราต้องรู้จักตัวเอง และรู้จักชา เรื่องรู้จักตัวเอง คือ รู้ว่าตัวเองชอบหรือต้องการอะไรเรื่องรู้จักชา คือ รู้ว่าชาแต่ละกลุ่ม มีบุคลิกคร่าวๆอย่างไรได้บ้าง เช่น ชากลุ่มชาขาวเป็นชาที่มีรสเบาและจางมากชาเขียวรสเข้มขึ้นมานิดหนึ่ง กลิ่นค่อนข้างเขียวสด ชาหมักน้อยๆ จะมีกลิ่นดอกไม้ชาที่หมักมากขึ้นจะมีกลิ่นผลไม้ลูกไม้และรสที่เข้มข้น และการที่จะรู้ว่าตนเองชอบแบบไหนคงไม่มีวิธีใดที่จะดีกว่าทดลองชิมและได้ชิมมากกว่าหนึ่งตัวในกลุ่มที่มีบุคคลิกคล้ายๆ กัน และก็ควรได้ชิมตัวที่งามพอจะเห็นจุดที่ชอบหรือบุคลิกรวมๆ ของชากลุ่มนั้นๆ ได้ง่าย
การคัดชาเข้าร้าน นอกจากต้องชิมๆๆ หลายๆ ครั้งหาชาที่ดีพอแล้ว อีกด้านหนึ่งต้องช่วยให้ลูกค้าหาชาที่ต้องตรงกับรสนิยมของลูกค้าให้พบด้วย แม้มีชาดีแต่ไม่ตรงกับรสนิยมคนดื่มก็คงเป็นได้เพียงชาดีแต่ไม่ใช่ พวกเราจึงได้ทดลองทำแผนภูมิให้ลูกค้าได้ทดลองเล่นเพื่อพาชาดีมาพบกับคนที่ใช่ ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม
ในศิลปะการจัดวางของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการจัดดอกไม้การวางภาพวาดภาพเขียน การจัดหินในสวน หรือถ้วยชาญี่ปุ่นที่ทรงเบี้ยวๆ บูดๆ แรกๆ ที่ดูก็มักจะมองไม่เห็นความงามเอาเสียเลยแต่ตามหนังสือที่ลงภาพถ่ายของงานอันเดียวกันนี้กลับรู้สึกว่ามันงดงามมากจนกระทั่งมาสังเกตได้ว่า งานพวกนี้จะถูกจัดวางอย่างจงใจให้มองจากมุมๆ หนึ่งเป็นการเฉพาะ หากเราเอาตัวไปอยู่ไม่ถูกที่ถูกจุด ก็ไม่อาจมองเห็นความงามได้
เช่นเดียวกับชาที่เราเลือกมา นอกจากชงชาให้เป็นน้ำชาที่มีความสวยงามในมุมมองของเราแล้วเรายังคงต้องบอกเป็นนัยๆ ว่าเรามองเห็นมันสวยงามอย่างไร หรือเห็นมันเช่นไร การบรรยายว่าชามีรสหวาน รสขม รสอมเปรี้ยวแม้จะบอกคุณสมบัติได้ แต่ก็ไม่อาจระบุเป็นปริมาณว่าเปรี้ยวแค่ไหนและมันสัมพันธ์กับรสอื่นอย่างไรจึงต้องหาทางบรรยายชาแต่ละตัวของร้านในลักษณะภาพรวมที่อาจจะเห็นได้เมนูว่ามีบรรยายชาไว้แปลกๆ อ่านขำบ้างไม่ขำบ้าง บางตัวเหมือนผู้หญิง บางตัวเหมือนผู้ชาย บางตัวเหมือนเกย์หนุ่ม หรือพระแก่ๆซึ่งคงจะต้องอาศัยจินตภาพของผู้ดื่มตามไปด้วย และมันก็เป็นมุมมองเพียงมุมเดียว ที่จริงแล้วคนอื่นๆ ที่ดื่มอาจจะเห็นมุมที่สวยงามอื่นๆ ที่ต่างออกไปก็ได้ แต่ทั้งนี้การมีกลิ่นรสที่คาดหวังชัดเจนเกินไปในใจก่อนดื่มอาจจะปิดกั้นจินตนาการและการมองเห็น เมื่อชาที่ดื่มไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้เป็นอันหมดงาม และไม่เปิดโอกาสให้มองเห็นความงามในมุมอื่นที่แปลกออกไป ทางที่ดีขณะดื่มชาก็ทำใจกว้างๆ โล่งๆ สบายๆ แล้วดื่มชา และตามสังเกตกลิ่นและรสของชาตัวนั้นๆ อย่างปัจจุบันเป็นเวลาประเสริฐสุด ก็น่าจะตักตวงความสนุกจากการดื่มชาได้มากที่สุด
No comments:
Post a Comment