07 May 2013

ความงามของชาหลากวัฒนธรรม


ความงามของชาหลากวัฒนธรรม 

                                    โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)


มีภาพอยู่ภาพหนึ่ง เป็นภาพรูปจานอาหารเช้าดังแสดง  ถ้าคนดูพอใจในภาพๆนี้เห็นว่ามันงามก็จบภาพๆนี้ก็ยังคงเป็นภาพๆนี้อยู่ต่อไป  แต่ถ้ามองภาพๆนี้แล้ว คนหนึ่งเห็นความงามส่วนที่เป็นไส้กรอก อีกคนเห็นงามในส่วนที่เป็นขนมปังปาดเนยส่วนอีกคนเห็นงานในส่วนไข่ดาว ภาพที่แต่ละคนเห็นงามจะเป็นดังภาพข้างล่าง


เพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ สิ่งที่แต่ละคนต้องทำก็คือทอนสิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องการออกคนต้องการภาพไส้กรอกต้องทอนภาพที่อยู่นอกกรอบสีดำออก  ในทำนองเดียวกันคนต้องการภาพขนมปังปาดเนยก็ต้องทอนภาพส่วนที่อยู่นอกกรอบสีแดงออกและคนที่ต้องการภาพไข่ดาวก็ต้องทอนภาพส่วนที่อยู่นอกกรอบสีเขียวออก

ถ้าหากจะเปรียบรสชาติดั้งเดิมแบบดิบๆของชาเป็นภาพเต็มๆทั้งภาพในช่วงเวลาพันถึงสองพันปีที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นได้ตัดทอนความเฝื่อนฝาดออกไปคงไว้ซึ่งความหอมความหวานของชา  คนจีนนอกจากทอนความเฝื่อนฝาดออกไปยังทอนความเขียวออกไปแล้วเชิดชูกลิ่นของดอกไม้ลูกไม้ที่ซ่อนอยู่ภายในให้ปรากฏโดดเด่น ส่วนฝรั่งชาติตะวันตกนั้นเลือกควักตัดเอาส่วนของเนื้อชาแล้วเอามันใส่กรอบของดอกไม้ลูกไม้ผสมออกมาเป็นชาแต่งกลิ่น

ผมมักได้ยินคนที่นิยมชาจีน พูดถึงชาญี่ปุ่นว่าเป็นชาคร่ำครึและล้าหลัง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แน่นอนเนื่องจากชาของญี่ปุ่นไปจากรากวัฒนธรรมจีนตั้งแต่สมัยซ่งในขณะที่จีนเปลี่ยนทัศนะความงามต่อชา ทิ้งชาที่งามตามรสนิยมสมัยซ่งไปสู่ความงามทัศนะใหม่ในช่วงราชวงศ์หมิงและชิง ในทัศนะของจีนที่เห็นภาพไข่ดาวงามขนมปังทาเนยที่งามในทัศนะญี่ปุ่นจึงเป็นส่วนที่ต้องทอนออกหรือให้เหลือไว้ได้เล็กน้อย  เมื่อเอาขนมปังยื่นให้คนที่มองไข่ดาว ขนมปังจึงไม่เข้าตาอย่างแน่นอน

ในแง่ของคนดื่มชา การดื่มชาเพื่อให้ได้เห็นภาพความงามที่หลากหลาย คือ ต้องทำใจกว้างๆว่างๆไว้ เปิดโอกาสให้ได้มองเห็นความงามในมุมอื่นๆที่คนจัดสรรมาให้ชม ณ จุดนี้จึงพอเข้าใจเรื่องที่ โอกาคุระ กล่าวว่า ตอนเด็ก เมื่ีอเขาชื่นชมงานศิลปชิ้นหนึ่งๆ เขาจะรู้สึกขอบคุณผู้สรรสร้างงามศิลปะที่มีความงามที่ถูกใจเขา ต่อเมื่อโตขึ้นเมื่อเขาเรียนรู้ทีจะมองเห็นความงามในงานศิลปะแต่ละชิ้นที่มี เขากลับรู้สึกขอบคุณตนเองที่มองเห็นความงามเหล่านั้น

No comments:

Post a Comment