30 April 2013

การแบ่งเกรดชาฝรั่ง


"การแบ่งเกรดชาฝรั่ง"
         
    โดย จงรักษ์ กิตติวรการ(ตี่)

ชาฝรั่งแบ่งเกรดตามรูปร่างและขนาด โดยไม่ได้สนใจคุณภาพของชา การแบ่งนี้แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ๒ กลุ่ม
คือ

๑) ชาใบ ในกระบวนการทำมักจะใช้วิธีการม้วน และนวดใบชาด้วยมือ  แบ่งเป็นกลุ่ม
  • Flowery Orange Pekoe (F.O.P) ไ่ม่เกี่ยวอะไรกับดอกไม้และส้ม แต่หมายถึงชาที่ทำจากยอดตูมของใบชาที่ยังไม่ได้คลี่เป็นใบ
  • Orange Pekoe (O.P) เป็นชาที่ทำจากใบชาอ่อนใบแรกนับจากยอด ใบบางเล็ก ไม่มียอดชาบน
  • Pekoe (Pek.) เป็นชาที่ทำจากใบชาใบที่ ๒ ที่นับจากยอด
  • Souchong (Sou.) เป็นชาที่ทำจากใบชาที่แก่ขึ้น ได้แก่ ใบชาใบที่ ๓ และ ใบที่ ๔
ดัีดแปลงจาก http://chestofbooks.com/food/science/Food-Study/XIII-Tea.html
ดัีดแปลงจาก http://chestofbooks.com/food/science/Food-Study/XIII-Tea.html
ภาพแสดงใบชา พร้อมทั้งชื่อที่ใช้เรียกใบต่างๆของชา โดยใช้กันในชาอินเดีย และลังกา  คำศัพท์ที่ใช้แม้มียืมคำมาจากภาษาจีน แต่ถูกใช้ในความหมายต่างออกไป  ใบชาใบที่ ๓ นับจากยอดที่เรียกว่า Pekoe Souchong บางทีก็เรียก Souchong (first) ส่วนใบที่ ๔ นั้นบางทีก็เรียก Souchong (second)


๒) ชาหัก เกิดจากการผลิตชาโดยใช้เครื่องจักร ในกระบวนการจะมีการหั่นใบชาทำให้เกิดเศษแตกหัก เมื่อนำมาคัดแยกตามขนาดจะแบ่งเป็น
  • Broken (B.)  เป็นใบชาที่แตกหัก หยาบๆ
  • Fannings (F.)  เป็นเศษใบชาละเอียด
  • Dust (D.) เป็นฝุ่นของชา ซึ่งมักจะเอามาบรรจุใส่ซอง tea bag เอาไว้ชงจุ่มน้ำร้อน
คำบอกขนาดที่แตกหักของชา จะถูกเอาไปประกอบเข้ากับชนิดของใบชาข้างต้นเป็นระบุเกรดของใบชา เช่น 
  • Broken Orange Pekoe (B.O.P.) เป็น Orange Pekoe ที่แตกหัก
  • Broken Pekoe (B.P.)  เป็น Pekoe ที่แตกหัก
  • Broken Pekoe Souchong (B.P.S.)  เป็น Pekoe Souchong ที่แตกหัก
  • Broken Orange Pekoe Fannings (B.O.P.F.)  เป็น Orange Pekoe ที่แตกหักเป็นเศษละเอียด
นอกจากนี้ยังอาจจะเจอการแบ่งเกรดชาที่จุกจิกมากมายเป็นการอวดสรรพคุณ เช่น FTGFOP (Finest Tippy Golden Flowery Orange Pekoe) Tippy คือ ชาเฉพาะยอดชา Golden หมายถึงยอดชาอ่อนที่มีขนสีทองปกคลุม ซึ่งก็มีคำย่อเสียดสีให้ว่า
 "FTGFOP" ย่อจาก "Far Too Good For Ordinary People"

อย่างไรก็ดีพึงระลึกไว้เสมอว่า คำเหล่านี้ไม่ได้บอกคุณภาพทางรสชาติของใบชา เพราะรสชาติไม่ได้ขึ้นกับขนาดของใบอย่างเดียว หรือแม้แต่ยอดชาที่มาจากไร่เดียวกัน หากผ่านมือช่างชาที่ดี ก็จะกลายเป็นชาคุณภาพ หากผ่านมือของช่างชาที่เลว ต่อให้ยอดชาก็ย่อมด้อยค่าลงโดยปริยาย
ใบชาเกรด pekoe
ใบชาเกรด pekoe
ใบชาเกรด orange pekoe
ใบชาเกรด orange pekoe
ใบชาเกรด BOPF
ใบชาเกรด BOPF

大紅袍 ต้า หง เผา (จีนกลาง) ตั่ว อั่ง เพ้า (แต้จิ๋ว)

大紅袍 ต้า หง เผา (จีนกลาง) ตั่ว อั่ง เพ้า (แต้จิ๋ว) 

                        โดย จงรักษ์ กิตติวรการ(ตี่)
ผู้ที่ชื่อชอบดื่มชาจีน “ต้า หง เผา” หรือ “ตั่ว อั่ง เพ้า”ชื่อใดชื่อหนึ่งน่าจะเป็นชื่อชาที่คุ้นหูชื่อหนึ่งหรืออย่างน้อยต้องเคยได้ยินชื่อมาบ้าง ตั่วอั่งเพ้า คือ ชื่อชาสายพันธุ์หนึ่งว่ากันว่าต้นดั่งเดิม ขึ้นอยู่บน ชะง่อนเขาที่ชื่อ เทียนซินเหยียน (天心巖)  ในบริเวณเขาอู๋อี้(武夷山) ในมณฑลฮกเกี้ยน  ด้วยเหตุที่เขาอู๋อี้เป็นพื้นที่ภูเขาซับซ้อนมีแม่น้ำคดเคี้ยว หน้าผานับร้อย ต้นชามีขึ้นตามผาหิน จึงเรียกชาในบริเวณนี้ว่าเหยียน ฉา (巖茶)หรือภาษาอังกฤษมักเรียกว่า rock tea

ด้วยเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าเป็นสุดยอดของชา เป็นราชันแห่งชา ทำให้ผมตามดื่มตามหาความงามจากรสของชาตัวนี้    ต้า หง เผา ที่ไหนมี ใครว่าดีเป็นต้องซื้อหามาชิม สิ่งที่เจอคือ ชาที่แน่น ทึบ แถมมีกลิ่นควันขะมุกขะมัวไม่น่าพิศมัยเท่าใดนัก หลายตัวที่ทดลองซื้อมาเข้าขั้นดื่มไม่ได้ เหมือนโยนอัฐทิ้งน้ำไปเปล่าๆ กาลเวลาผ่านไปๆการตามหาความงามต้าหงเผาเหมือนไล่จับผี

ก่อนที่ความพยายามจะดับมอดผมก็ได้พบต้าหงเผาตัวหนึ่ง มีกลิ่นหอมหวานของอบเชย รสชาติโปร่งเบา แผ่ซ่านราวกับดวงตะวันแจ่มจรัส  ต้าหงเผาตัวนี้อาจจะไม่ใช่ต้าหงเผาที่ดีที่สุดในแผ่นดินแต่บุคคลิกของมันได้ฉายให้เห็นความงามของชาที่น่าประทับใจ หากต้าหงเผาคือดวงตะวัน ชาตัวนี้ทำให้ได้เห็นดวงตะวันที่แจ่มชัดเปิดให้ผมสามารถมองเห็นความงามของต้าหงเผาตัวอื่นๆที่ดูเหมือนดวงตะวันในลักษณะอื่นๆเช่น  ตะวันแฝงหลังม่านเมฆ ตะวันมองลองเงาไม้ ซึ่งแล้วๆมาผมไม่เคยเห็นว่ามันงามเลย

ชาลังกา (Ceylon Tea)

ชาลังกา (Ceylon Tea) 
                         
                                                  โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
ศรีลังกาเป็นเกาะตั้งอยู่กลางมหาสมุทรอินเดีย ดูคล้ายหยดน้ำผึ้งที่หยดจากรวงผึ้งอินเดีย  ลังกาและไทยมีการติดต่อกันมาแต่โบราณ นอกจากไทยจะรับพุทธศาสนาแบบเถรวาท ผ่านทางนครศรีธรรมราชแล้ว เราน่าจะมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมทั้งการกิน และภาษา จะว่าไปท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ก็มีโครงหน้าเหมือนชาวสิงหลเลยทีเดียว

ในด้านพันธุ์พืช ไทยและลังกาก็มีพืชพันธุ์คล้ายกันอยู่หลายอย่าง ทั้งมะแวง มะรุม ส้มโอ มะม่วงหิมพานต์ (รวมทั้งลิ้นจี่ ลำไย ที่ปัจจุบันสูญไปจากลังกาแล้ว) อาหารทั้งขนมจีน ขนมครก แกงคั่วสับปะรด และชื่อพืชหลายชนิดก็เรียกคล้ายกัน เช่น มะรุม สิงหลเรียก มอรุมก้า  

จากร่องรอยทางโบราณคดีอันอลังการในเมืองโบราณหลายแห่ง น่าจะสัณนิษฐานได้ว่าลังกาเคยเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่รุ่งเรืองมาก่อน ในราศตวรรษที่ ๑๖ ที่ทั้งโปรตุเกส และดัตช์แผ่อิทธิพลเข้าควบคุมการค้าทางทะเลในย่านนี้ อาณาจักรแคนดี้ก็ยังสามารถดำรงอำนาจอธิปไตยทางการเมืองเอาไว้ได้ กระทั่้งอังกฤษเข้ายึดครองอินเดียในศตวรรษที่ ๑๘ และเข้ากุมอำนาจเบ็ดเสร็จในลังกาได้ในปี คศ ๑๘๑๕

อังกฤษใช้ลังกาเป็นฐานในการปลูกกาแฟขนาดใหญ่เพื่อการส่งออก เนื่องจากราคาในตลาดของเมล็ดกาแฟดีมาก การปลูกกาแฟในลังกาจึงขยายตัวมาก จนกระทั่งต่อมาเกิดการระบาดของเชื้อราในต้นกาแฟ ผลกำไรของไร่กาแฟลดลง จนต้องหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ในที่สุดก็มาสรุปที่ชา

อังกฤษเริ่มนำชาจากจีนเข้ามาทดลองปลูกในสวนพฤษศาสตร์ในปี  ๑๘๒๔  ตามาด้วยชาจากอัสสัม และกัลกัตตา เข้ามาทดลองปลูก  การปลูกชาเพื่อเชิงพาณิชย์ เริ่มในปี ๑๘๖๗ โดย James Taylor ที่ไร่ Loolecondera เมือง Kandy และสามารถผลิตชาไปขายในลอนดอนปริมาณ ๑๐ กก. ทำให้เกิดกระแสปลูกชาทดแทนกาแฟที่กำลังประสบปัญหาโรคระบาด และกำไรต่ำ  ในปี ๑๘๗๑ การปลูกชาก็ได้ขายไปทั่วลังกา  ส่งผลให้ขาดแรงงานในการปลูกชา เนื่องจากชาวสิงหลในลังกา กินอยู่พอเพียง มีข้าวปลาสมบูรณ์ ไม่นิยมเป็นลูกจ้าง  อังกฤษจึงต้องหันไปนำเข้าแรงงานทมิฬมาจากอินเดีย ซึ่งมีชีวิตที่แร้นแค้นกว่ามาก  ผลจากการนำเข้าแรงงานทมิฬ และนโยบายแบ่งแยกและปกครองแบบอังกฤษ ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาวสิงหล และทมิฬในลังกาต่อมาอีกยาวนาน

พื้นที่ปลูกชาในลังกามีอยู่หลักๆ ๖ พื้นที่ คือ 
  • Nuwara Eliya
  • Dimbula
  • Kandy 
  • Uda Pussellawa
  • Uva Province ได้แก่ชาที่ผลิตในเมือง Badulla, Bandarawela และ Haputale
  • Southern Province ได้แก่ชาที่ผลิตในเมือง Galle, Matara และ Mulkirigala
ในลังกาปลูกชาทั้งชาที่สูง จนถึงชาพื้นราบ ชาที่ปลูกในที่สูงกว่ามักจะให้น้ำชาที่สีอ่อนกว่า มีรสที่ละเมียด และมีความฝาดน้อยกว่าชาที่ปลูกในพื้นที่ราบ ซึ่งให้ชาสีเข้ม รสฝาด บาด และเสียดแทง

หากจะแบ่งชาศรีลังกาตามกระบวนการผลิต แรกเริ่มเดิมทีในสมัยอาณานิคมลังกาผลิตชาที่ผ่านการออกซิไดซ์ และมีสีเข้ม ภาษาทางเทคนิคเรียกกันว่า ชาแดง (แต่อังกฤษเรียก black tea) แต่ในปัจจุบันนอกจากจะผลิตชาแดงแล้ว ลังกายังผลิตชาเขียว และชาขาวอีกด้วย

ชาจีน (Chinese Tea)

ชาจีน (Chinese Tea) 

                       โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)



แหล่งชาญี่ปุ่น

แหล่งชาญี่ปุ่น 

                                          โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)






ญี่ปุ่นสามารถปลูกชา ได้เกือบทั่วประเทศ  แต่แหล่งชาที่รู้จักกันดี คือ Shizuoka, Uji (อยู่ใน Kyoto) และ Sayama (อยู่ใน Saitama) หากเอ่ยถึงชา คนญี่ปุ่นว่ากันว่า สีสวย Shizuoka, กลิ่นดี Uji, เลิศรส Sayama 

ส่วนแหล่งชา Yame (ใน Fukuoka) เป็นแหล่งชาที่มีกำลังผลิตไม่มาก ประมาณ ๓% ของกำลังผลิตชาในญี่ปุ่น แต่ในระยะหลังชาจากแหล่งนี้ชนะการประกวดหลายครั้ง วัดโดยเฉลี่ยแล้วถือว่าเป็นแหล่งชาที่มีคุณภาพดีที่สุดในญี่ปุ่นขณะนี้

การใช้ Chasen (茶筅 แปรงตีชา)

การใช้ Chasen (茶筅 แปรงตีชา) 

                            โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

chasen (茶筅) คือ แปรงที่ใช้สำหรับชงชาป่น ที่เรียกกันว่า มัตจะ (matcha) โดยใช้ตีให้ผงชารวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับน้ำที่อยู่ในถ้วยชา  แปรงตีชานี้ทำจากท่อนไม้ไผ่แก่ขนาดเส้นรอบวงใหญ่กว่าหัวแม่มือเล็กน้อย จักเป็นซี่ๆจนรอบ แล้วดัดซี่ที่จักนี้ให้ชี้เข้าข้างในสลับกับชี้ออก ปลายซี่แต่ละซี่จะถูกดัดให้โค้วและเรียว จนได้ทรงเป็นแปรงตามที่แสดงในรูป  ขนาดมาตรฐานโดยทั่วไปประมาณ ๑๒ ซม.  แต่อาจจะมีขนาดที่เล็กหรือใหญ่ได้กว่านี้  แปรงตีชามักจะแบ่งกันตามจำนวนซี่ที่จัก (นับจำนวนซี่เฉพาะซี่รอบนอก) มีตั้งแต่ขนาด ๑๖ ซี่ไปจนกระทั่ง ๑๒๐ ซี่

ในภาพซ้ายเป็นแปรงขนาด ๔๐ ซี่ ส่วนอันขวามี ๑๒๐ ซี่  แปรง ๔๐ ซี่จะมีซ่ฟันที่ใหญ่ เหมาะสำหรับชงชาเข้ม (koi-cha) เนื่องจากชงกันเข้มข้นมาก ขนาดหนืดเหมือนเนื้อโคลนเหลวๆ  ส่วนแปรง ๑๒๐ ซี่ใช้สำหรับชงชาบาง (usui-cha) ที่มีความเข้มข้นน้อย เหลว ไหลลื่น  

แปรงตีชา อันใหม่ที่ใช้งานครั้งแรก ควรเอาแช่น้ำไว้อย่างน้อย ๑ ชม. ก่อนใช้งานเพื่อให้แปรงนุ่ม เมื่อใช้งานจะได้ไม่แตกหัก  และก่อนการใช้งานทุกครั้งให้จุ่มในน้ำร้อน โดยจะจุ่มในถ้วยที่ใช้ชงชาก็ได้ัดังภาพ  หลังการใช้แปรงตีมัตจะแล้ว ให้ล้าง โดยใช้แปรงคนในน้ำร้อน หากยังมีคราบชาติดซี่แปรงให้ผ่านน้ำประปาแล้วใช้นิ้วมือลูดคราบชาออกอย่างบรรจง สบัดแปรงให้สะเด็ดน้ำ

ในภาพจะเห็นอุปกรณ์เป็นเครื่องกระเบื้อง ทรงลูกชมพู่ แกนกลางกลวง มีรูเปิดกลมหัวท้าย คือ แป้นเสียบแปรงตีชา (chasen-ta-te) แปรงที่ล้างสะเด็ดน้ำแล้ว ให้เสียบลงบนแป้นนี้ ซึ่งจะทำหน้าที่รักษาแปรงไม่ให้เสียรูป 

สำหรับท่านที่สนใจรายละเอียดปลีกย่อยของแปรงตีชาที่มีรูปร่างแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อยตามแต่ละสำนัก สามารถดูเพิ่มเติมได้จาก  http://verdure.tyanoyu.net/cyasen.html

วิวัฒนาการของชาจีน




วิวัฒนาการของชาจีน 

                               โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

ก่อนที่ชาจะกลายมาเป็นเครื่องดื่มที่เตรียมโดยการใช้น้ำร้อนชงลวกใบชาสกัดเอาน้ำชามาดื่มแบบที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ชาผ่านการเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะเวลายาวนาน

ชาจีนในยุคแรกเริ่ม ถูกใช้เป็นยา เริ่มตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฎชัด  แต่ในช่วงราชวงศ์โจว มีการเรียกชาเป็นบรรณาการจากเมืองในเสฉวน ในยุคแรกๆนี้เป็นการใช้แบบง่ายๆใช้ใบชาดิบบ้าง หรือโยนใบชาลงต้มในน้ำเดือด ลักษณะคล้ายซุปผัก

ต่อมาชากลายสภาพเป็นเครื่องดื่ม คะเนว่าในราวปลายสมัยฮั่น เมื่อเก็บใบชามาแล้ว จะนำมานึ่่ง บด อัดเป็นก้อน ทำให้แห้ง ร้อยเป็นพวงแล้วบรรจุหีบห่อ  เมื่อจะดื่มจะเอาแผ่นชามาย่างไฟจนแดง บด แร่ง และโปรยลงต้มในน้ำเดือด ปรุงรสด้วย หอม ขิง ฯลฯ 
ภาพจำลองการชงชาในยุคถังหาชมได้จาก 

ในยุคถังนี้เองที่ชาจากมณฑลหูหนานของจีน ได้แพร่เข้าไปในทิเบต โดยเจ้าหญิงราชสำนักถัง นำชาไป พร้อมกับการไปแต่งงานกับกษัตริย์ทิเบต ชาทิเบตที่เห็นในปัจจุบันจึงน่าจะเป็นร่องรอยที่ใกล้เคียงกับชาสมัยถังที่พบเห็นได้

ต่อเข้ามาในสมัยซ่ง ชาเริ่มเปลี่ยนจากการต้มผงชา เป็นการเติมน้ำร้อนลงบนผฝชาแล้วใช้แปรงตี จนเกิดฟอง  ร่องรอยของชายุคนี้ดูได้จาก การเตรียมชาป่นโดยการตีผงชาป่นกับน้ำร้อนในเกาหลี และญี่ปุ่น 
ภาพจำลองการชงชาในยุคซ่ง

พอเข้ายุคหยวน ชาอัดก้อนก็เสื่อมความนิยมไป ใช้เป็นชาใบแบบที่ใช้น้ำร้อนลวกชงใบชาแบบในปัจจุบัน

ชาดี คือ ?

ชาดี คือ ?.. 

                                   โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

ช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ได้พบปะกับผู้คน มักเจอคำถามว่า ชาตัวไหนดีที่สุด ชาตัวนี้ดีไหม  คำถามดูง่ายๆ แต่จะให้ตอบดูเหมือนจะตอบได้ยากทีเีดียว   บางคนบอกว่า "ชาดี คือ ชาฟรี"  ซึ่งนั่นก็ถูกบางส่วน ในแง่ที่ว่า ชาที่มีคุณภาพสูงมากๆ และถ้าทำได้น้อยๆ ก็มักเป็นชาที่หวงแหน ต้องให้เจ้าของแบ่งให้ชิมด้วยความเต็มใจ ชาพวกนี้ซื้อหาด้วยเงินไม่ได้  เป็นชาที่มีคุณค่าทางจิตใจมากกว่า  

สำหรับผมในตอนนี้ ดูเหมือนว่า ชาที่ดี คือ ชาที่น่าพอใจ  ดังนั้น ชาที่ดีจึงดูเหมือนว่ามีการเปลี่ยนแปลงได้ไปตามประสบการณ์และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะขณะเวลาที่ดื่มชา ดูเป็นความพอใจที่มีการเติบโต ต้องการการเพาะบ่มและเรียนรู้   คงเหมือนที่ จอห์น โบลเฟล (John Blofeld) ว่าไว้ว่า รสนิยมของชา ต้องการเวลาในการบ่มเพาะเช่นเดียวกับสิ่งดีๆอืนในชีวิต


จึงมาขอแอบเปิดประเด็นถกเถียงว่า ชาที่ดีของคุณคืออะไร? 

การเก็บรักษาใบชา

การเก็บรักษาใบชา 
                                   โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

พอเข้าเดือนเมษายนชาช่วงฤดูใบไม้ผลิที่เก็บเกี่ยวไป ก็คงจะทยอยปรากฏตัวในตลาดให้ได้เลือกซื้อกันเมื่อได้ชาดีๆกันมาแล้วก็ต้องมีวิธีเก็บรักษาใบชาที่ดีเพื่อถนอมคุณภาพอันได้แก่กลิ่นรสของชาให้มีอายุอยู่ได้นาน  ชามีสมบัติสามารถดูดซับกลิ่นได้ดี  กลิ่นและรสของชาจะเปลี่ยนไปได้หากถูกอากาศ ความร้อนแสงแดด และความชื้น ดังนั้นการเก็บรักษาชาจึงต้องอาศัยภาชนะปิดสนิทป้องกันไม่ให้ชาสัมผัสกับกลิ่นอื่นๆที่ไม่พึงประสงค์ ภายในภาชนะควรแห้ง ป้องกันแสงและเก็บในที่เลี่ยงจากความร้อนและถูกแดด

การเลือกภาชนะเก็บใบชา

การเลือกภาชนะเก็บใบชา 

                                        โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

ภาชนะเก็บใบชา ถ้าเป็นภาชนะกลวงมีฝาปิด ภาษาไทยมีคำเฉพาะเรียกว่าถ้ำชา ถ้ำชาดั้งเดิมในจีน มักทำจากดีบุก ส่วนของญี่ปุ่นมักใช้ถ้ำชาดินเผาปัจจุบันมีวัสดุมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่พลาสติก ไม้ ดินเผา โลหะ หิน แก้ว :ภาพถ้ำชาหาค้นดูได้โดยใช้คำ茶筒หรือ  茶叶罐

ถ้ำชากระเบื้อง หรือดินเผามักจะสวยงามแต่ปิดได้ไม่สนิทนัก 


ถ้ำชาพลาสติก ทางซ้ายเป็นแบบญี่ปุ่นที่มีฝาสองชั้น ญี่ปุ่นมักใช้เก็บชาเขียวญี่ปุ่นแต่ไม่ใช้เก็บชาป่นมัตฉะ  ส่วนทางขวาเป็นแบบมีวาว์ลอากาศ(สีชมพู) เมื่อปิดฝาจะปล่อยอากาศไหลออกวาล์วอากาศนี้ ทำให้ปิดผนึกสนิทโดยอากาศไม่เข้า  วัสดุพลาสติกที่ใช้มักเปราะ ตกแตกมีอายุการใช้งานที่จำกัด การเลือกถ้ำชาพลาสติกควรสำรวจให้แน่ใจว่าไม่มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์

ถ้ำชาโลหะ โบราณมักทำด้วยดีบุก เพราะเนื้อโลหะที่ค่อนข้างนิ่มขึ้นรูปฝาถ้ำให้แนบสนิทกับตัวถ้ำได้ง่าย ถ้าช่างฝีมือดีถึงขนาด ถ้ำชาจะปิดฝาได้สนิทอย่างอากาศไม่เข้าข้อเสียคือเราไม่อาจรู้ได้ว่าวัสดุโลหะที่ใช้ทำถ้ำนั้นเจือด้วยโลหะหนักที่เป็นพิษหรือไม่ กับน้ำหนักมาก พกพาไปไหนไม่สะดวก


พวกที่ทำจากแก้ว แข็งแรงทนทานดี มีน้ำหนักพอสมควรเหมาะที่จะใช้เก็บชาไว้กับที่ มากกว่าจะอุ้มไปไหนมาไหน แต่โปรงใส่ไม่กันแสงซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหามากนัก แก้ได้โดยเก็บในที่ไม่ถูกแสง
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ก็เพราะ ต้องการโฆษณาขายถ้ำชาร้านดับเบิ้ลด๊อกส์ ตัวถ้ำเป็นแก้วใสมีความแข็งแรง หากไม่ทำตกแตกเสียก่อน ปากภาชนะกว้างตักถ่ายใบชาได้ง่าย ขนาดใหญ่พอที่จะบรรจุชาใบได้หนึ่งขีดซึ่งถ้ำชาโดยทั่วไปมักมีขนาดเล็กกว่านี้ ไม่ใหญ่พอที่จะบรรจุใบชาที่ซื้อมา  ฝาถ้ำทำด้วยพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ไม่มีกลิ่น ใต้ฝามีวงแหวนซิลิโคนช่วยยึดฝาให้สนิทกับตัวถ้ำตัวฝามีวาล์วอากาศ(สีส้ม) วิธีใช้ คือ ในระหว่างจะเปิดจะปิดฝาให้เปิดวาล์วปล่อยอากาศไหลเข้าออกได้ เมื่อปิดฝาแล้ว ให้ปิดวาล์วนี้ อากาศไม่สามารถไหลเข้าภายในถ้ำฝาจะถูกล๊อคยึดติดแน่นกับตัวถ้ำ พกพาไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องกังวลว่าฝาจะปิดโดยไม่ตั้งใจถ้ำชาแก้วนี้มีจำหน่ายที่ร้านดับเบิ้ลด๊อกส์


ชาเพื่อสุขภาพ

ชาเพื่อสุขภาพ

                             โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

หากเชื่อตามที่ คาคุโซ โอกาคุระ เขียนเอาไว้ในหนังสือ book of teaมนุษยชาติรู้จักชาในฐานะยารักษาโรคก่อนต่อมาจึงปรับปรุงชาให้เป็นเครื่องดื่ม ในฐานะของยา เรามุ่งเอาฤทธิ์ในการรักษา ส่วนเครื่องดื่มนั้นเราให้ความสำคัญที่รสชาติชาเริ่มมีสถานะเป็นเครื่องดื่มเมื่อปลายสมัยฮั่น ซึ่งก็ล่วงมาแล้วกว่า ๒๐๐๐ ปีในช่วง ๒๐๐๐ ปีมานี้ ชาถูกปรับปรุงอย่างต่อเนื่องโดยมุ่งเอาสุนทรียรสจนปัจจุบันมีชาที่แตกแขนงไปในวัฒนธรรมต่างๆ เช่น ชาจากจีนที่เข้าไปในทิเบตตั้งแต่สมัยถังถูกปรับเปลี่ยนโดยต้มใบชาผสมกับเกลือและเนยจามรีโดยใช้ตะบันไม้ตีให้ชากับเนยรวมเป็นเนื้อเดียวกันเป็นชารสมันเค็มที่ให้พลังงานความอบอุ่นและชดเชยเกลือให้คนที่อาศัยบนที่ราบสูงชาเขียวป่นที่ผ่านจากจีนเข้าสู่ญี่ปุ่นในยุคซ่ง ถูกปรับปรุงเทคนิคการบดใบชาเป็นผงละเอียดรสชาติที่ละเมียด เมื่อตีให้รวมเข้ากับน้ำร้อนจนขึ้นฟองมีกลิ่นหอมสัมผัสละเอียดนุ่มลื่น รสขมอมหวานและลุ่มลึกในวัฒนธรรม  ชาใบชงน้ำร้อนนับพันชนิดที่จีนค่อยๆคิดทำขึ้นให้กลิ่นรสหลายหลายสีสันฉูดฉาดมีชีวิตชีวา จนชาแดงที่ชาติตะวันตกปรุงกลิ่นให้เกิดความหลากหลายโดยเติมผลไม้หรือสมุนไพรอื่นๆผสมเข้ากับใบชา   ช่วง๒๐๐๐ ปีของมนุษยชาติที่ปรับปรุงชาจนเป็นเครื่องดื่มที่มีกลิ่นรสละเมียดที่อาจพาให้เกิดจินตภาพที่เพริดแพร้ว และความสุขอย่างประณีต

เมื่อกระแสสุขภาพมาแรงสุขภาพถูกใช้เป็นเครื่องมือในการขายชา ทำให้ชาที่ก้าววิวัฒนาการมากว่า ๒๐๐๐ปีในฐานะเครื่องดื่มที่อุดมด้วยวัฒนธรรมและรสอันละเมียดกลับถูกมองในฐานะของยาที่ดิบเถื่อนเช่นชายุคบรรพกาล จะขายชาสักทีอะไรอะไรก็อ้างสุขภาพ เมื่อเห็นโฆษณาชาเพื่อสุขภาพครั้งใด ก็อดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบเหมือนคนขายแปรงสีฟันที่โฆษณาว่าแปรงที่ขายใช้ขัดส้วมได้ หากผมต้องการแปรงสำหรับใช้ขัดส้วมผมก็คงซื้อแปรงขัดส้วมไม่ซื้อแปรงสีฟันไปขัดส้วม อีกทีก็ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าแปรงที่เขาขายอยู่เป็นแปรงสีฟันจริงหรือที่แท้มันคือแปรงขัดส้วม

MATCHA (抹茶)

MATCHA (抹茶)

                            โดย จงรักษ์ กิตติวรการ(ตี่)

เรียบเรียงจาก

Heiss, Mary Lou. Matcha: the grossamer tea powder of Japan

ภาพแรกๆที่ผุดขึ้นมาคู่กับชาญี่ปุ่นน่าจะได้แก่ ภาพของพิธีชาที่เคร่งขรึม ภาพของคนชงชาที่ใช้แปรงกวนผงชาสีเขียวในถ้วยชา ชาป่นผงละเอียดสีเขียวในถ้วยที่ว่า คือ ชาเขียวที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดของญี่ปุ่น เรียก มัตจะ ญี่ปุ่นรับชาป่นมาจากจีนในสมัยซ้อง ราว คศ. ๙๖๐-๑๒๗๙ แต่ปัจจุบันชาป่นกลับไม่เป็นที่นิยมกันในจีน แม้จะเป็นถิ่นกำเนิดก็ตาม

เมื่อสืบย้อนวิวัฒนาการของชาป่นขึ้นไป จีนทำชาที่มีเค้าคล้ายๆกันนี้ตั้งแต่สมัยถัง (คศ ๖๑๘-๙๐๗) แต่ทำเป็นรูปชาอัดก้อน โดยทำจากใบชาที่ผ่านการนึ่ง บดหยาบๆ อัดเป็นก้อน แล้วทำให้แห้ง เมื่อจะดื่มจึงแบ่งก้อนชามาบด ต้มชาบดในน้ำร้อน รวมกับหัวหอม หรือเครื่องเทศอื่นๆ และเกลือ แล้วจึงรินแบ่งใส่ชามก้นตื้นปากกว้าง

กระทั่งลุราชวงศ์ซ้อง มีการพัฒนาทักษะการบด ชาอัดทำจากใบชาที่ป่นเป็นผงละเอียดแทนที่จะบดหยาบๆดังที่ทำมาในยุคก่อน ยุคนี้เตรียมชาโดย แบ่งก้อนชามาบดให้เป็นผง เติมน้ำร้อนลงบนผงชาในถ้วยที่ใช้ดื่ม แล้วใช้แปรงตีผงชาให้เข้ากับน้ำร้อนจนขึ้นฟองในถ้วยดื่มชาที่เป็นชามก้นสอบปากกว้าง แล้วจีนก็เลิกดื่มชาป่นนี้ไปเมื่อเข้าศตวรรษที่ ๑๕ สมัยหมิง

ญี่ปุ่นแรกรับชาจากจีนแต่สมัยถัง แต่ขาดช่วงไปกระทั่งรับชาจากจีนอีกครั้งในสมัยซ้อง แล้วค่อยปรับเปลี่ยนการดื่มชาขึ้นตามรสนิยมของญี่ปุ่นเอง จนลุศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ พิธีชา ก็เป็นแบบแผนมั่นคง ญี่ปุ่นเลิกอัดชาเป็นก้อน แต่ผลิตชาในรูปชาบดเป็นผง เรียก มัตจะ ซึ่งมีรสแน่นเข้มข้น ให้กลิ่นกรุ่นทุ่งหญ้าสด อุ่นไอฤดูใบไม้ผลิ ให้สัมผัสละมุนดังกำมะหยี่ ลื่นราวแพรจีน มีสีเขียวดุจมรกต เป็นมันระยับเต็มด้วยชีวิต เฉกใบไม้เพิ่งล่วงวัยเยาว์ กลิ่นรสของมัตจะดูเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่มีความลุ่มลึกในที จำต้องอาศัยการพินิจพิเคราะห์จึงจะเห็นความวิเศษในตัวชา บรรยากาศที่จะเอื้อให้คนดื่มได้เห็นความงามที่ว่านี้จึงต้องเอื้อต่อการใช้ความพินิจพิเคราะห์ จึงนิยมบรรยากาศที่นิ่ง สงบ และเนิบช้า การดื่มชาของญี่ปุ่นจึงเป็นไปในทางที่มีบุคลิกที่ว่า

มัตจะอาจทำได้ ๒ ชนิดแบ่งตามการใช้งาน คือ มัตจะสำหรับ usucha (อุซุจะ แปลว่า ชาบาง) และ koicha (โคะอิจะ แปลว่า ชาเข้ม) ชนิดแรกเป็นชาที่เตรียมเป็นถ้วยให้ดื่มเฉพาะคนๆละถ้วย โดยจะเตรียมเป็นชาอย่างบาง เรียก usucha ส่วนชนิดหลังเป็นชาที่เตรียมเพียงถ้วยเดียว และเวียนให้ทุกคนดื่มจากถ้วยเดียวกัน ชนิดนี้จะเตรียมอย่างเข้มข้น เรียก koicha ข้นจนมีความหนืดเป็นคราบชาเขียวที่ฉาบไปบนผิวถ้วย ชาที่จะชงได้เข้มข้น และสำคัญที่ให้ดื่มได้ จะต้องมีความฝาดและขื่นน้อยเป็นพิเศษ มัตจะที่เตรียมเฉพาะสำหรับชาชนิดนี้จึงมีคุณภาพสูงเป็นพิเศษ ไม่ได้มีให้เห็นได้ง่ายนัก แม้ในญี่ปุ่นเอง จะว่าไปแล้วคนญี่ปุ่นที่มีโอกาสลิ้มลอง koicha ก็คงมีไม่มากนัก
การทำมัตจะดูเหมือนมีความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่กลับมีรายละเอียดที่พิถีพิถันเช่นเดียวกับตัวของชา เมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิ ผู้ผลิตชาจะทำรำไรคลุมต้นชาที่จะใช้ผลิตมัตจะ ชาพวกนี้ได้แสงแดดแต่น้อย รสฝาดน้อย มีรสอูมามิมาก เมื่อเทียบกับชาที่เลี้ยงในที่แจ้ง ระยะเวลาที่เลี้ยงชาในรำไรนี้จึงเป็นตัวกำหนดรสของชาในชั้นต้น เมื่อจะเด็ดยอดชา การเลือกความยาวของยอดที่เด็ด รวมไปถึงความอ่อนแก่ของใบชา กระทั่งอายุของต้นชาก็มีส่วนกำหนดกลิ่นรสของมัตจะที่ได้

ยอดชามาที่เก็บมา จะถูกนึ่งด้วยไอน้ำด้วยเวลาที่พอเหมาะ ผ่านลมร้อนที่ร้อนพอดีจนใบชาแห้ง แล้วย่อยเป็นชิ้นละเอียดที่สม่ำเสมอกัน กิ่ง ก้าน กระทั่งเส้นกลางใบถูกคัดออกจนเหลือแต่เนื้อใบล้วนๆ ชาที่ได้ในขั้นนี้ เรียก tencha ซึ่งเก็บรักษาได้นานโดยแช่แข็งในถุงสุญญากาศ เมื่อจะทำมัตจะ tencha จะถูกนำมาบดอย่างช้าๆและบรรจงโดยโม่หินขนาดเล็ก ไม่ให้เกิดความร้อนที่ทำลายรสของชา การบดช้าๆที่ว่า ช้าขนาดโม่หินแต่ละตัวบดได้ไม่เกิน ๑๕ กรัม (ราว ๑-๒ ช้อนโต๊ะ) ต่อชั่วโมง ให้ความช้าซึมและซาบไปทั่วผงชา และให้ได้ขนาดผงชาที่เล็กละเอียดตามต้องการ รายละเอียดเล็กน้อยเหล่านี้จะถูกส่งผ่านต่ออีกทอดไปยังกลิ่นรสของชา เมื่อเตรียมชา

ผู้ผลิตแต่ละรายจะสร้างบุคลิกเฉพาะของมัตจะของตนขึ้น โดยอาศัยการคัดสรรวัตถุดิบ การผสม tencha หลายๆตัว มัตจะที่ใช้สำหรับพิธีน้ำชา จะเป็นมัตจะคุณภาพสูงและทำอย่างประณีต วัดฝีมือคนทำ เป็นความภาคภูมิ ขายในราคาที่สูง ในขณะที่มัตจะที่ทำง่ายเข้าว่า ทำเอามาก ราคาต่ำ ถูกใช้สำหรับงานทำอาหารและขนม เนื่องจากรายละเอียดของมัตจะ ถูกส่วนประกอบของอาหารและขนมลดทอนลงไป จนไม่อาจเห็นความประณีตได้อีก หากจะใช้มัตจะคุณภาพสูงก็เป็นความฟุ่มเฟือย แต่หากทำกลับกัน คือ ใช้มัตจะทำขนมไปทำเครื่องดื่ม ก็เป็นเครื่องดื่มที่รสทราม ส่วนการพรางรสด้วยนม จะเป็นความฉลาดหรือความฉ้อฉลก็สุดแล้วแต่จะคิด



เรียบเรียงจาก
Heiss, Mary Lou. Matcha: the grossamer tea powder of Japan

เลือกป้านชามาไว้ใช้ชงชา


เลือกป้านชามาไว้ใช้ชงชา 

โดย จงรักษ์ กิตติวรการ(ตี่)

ช่วงนี้มีเพื่อนๆซื้อหาป้านกันเยอะ จึงขอถือโอกาสเขียนเรื่องการเลือกป้านเอาไว้เป็นแนวทางในการซื้อหาป้านสำหรับชงชา ขีดเส้นใต้สองเส้นใต้คำ “สำหรับชงชา” สำหรับท่านที่มีจุดประสงค์ในการซื้อหาป้านที่ไม่ใช่เพื่อชงชาคงจะมีแนวและข้อแนะนำในการซื้อหาต่างออกไป

หมายเหตุไว้เล็กน้อยว่า เขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ของตัวเองเอาเท่าที่นึกออก อาจจะไม่รอบคอบ ตกหล่นบ้าง ก็ขอให้ช่วยท้วงติงเผื่อจะได้รวบรวมให้เป็นหลักเป็นฐานต่อไป

๑) รูปทรง 
ว่ากันเรื่องรูปทรงก่อนรูปทรงเป็นภาพลักษณ์ภายนอกของป้าน ซึ่งเป็นจุดที่ดึงดูดความสนใจมากที่สุด  โดยทั่วไปก็ลองกวาดตาหาป้านที่มีรูปต้องตาทรงต้องใจก่อนจริงๆมันจะเป็นทรงอะไรก็ได้ไม่ขัดข้อง เมื่อหาได้แล้วให้มองหาปาก ปากของป้านคือรูเปิดที่มีฝาของป้านปิดครอบไว้นั่นเอง ปากของป้านควรกว้างเข้าไว้ จะใส่ใบชาได้ง่ายและแตะกากชาออกได้คล่อง
เมื่อเจอปากของป้านแล้วให้ใช้นิ้วควานเข้าไปในป้านนิ้วของผู้ใช้ควรเข้าถึงได้ทุกซอกมุมเพื่อความสะดวกในการทำความสะอาด ป้านที่ลึกมากจนนิ้วแตะไม่ถึงก้นป้านรูปทรงแฟนซีมากๆ มีปากป้านที่แคบหรือมีร่องหลืบภายในมากๆที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ถ้าจะซื้อต้องคิดก่อนว่าจะเอากากชาที่ก้นป้านออกได้อย่างไร   ถ้าตอบได้ก็ซื้อไว้ใช้ได้ไม่มีข้อขัดข้อง



๒) ขนาด

การเลือกขนาดของป้านมีข้อน่าคิดหลักๆ๓ ข้อ คือ จำนวนคนที่จะดื่ม ปริมาณน้ำชาที่จะดื่ม และราคาใบชา

การชงชาในป้านดินโดยพื้นฐานแล้วจะเลือกใช้ป้านดิน กับจอกชากระเบื้องเนื้อบางสีขาวการวัดขนาดอย่างง่ายๆวัดโดยความจุของป้านเป็นจำนวนจอกโดยเอาน้ำใส่จนเต็มป้านแล้วเทใส่จอกจนเต็ม เทได้กี่จอก ก็คือขนาดของป้านนั่นเองถ้าดื่มกัน ๒ คนก็เลือกป้าน ๒ จอก ถ้าจะดื่มกัน ๔ คนก็ควรเลือกป้านขนาด ๔ จอก

หากจะไม่เลือกขนาดด้วยจำนวนคนดื่มถ้าใช้ชงดื่มเอง ก็ให้ถามตัวเองว่าดื่มชามากน้อยแค่ไหน  ปริมาณที่จะดื่มนั่นแหละคือขนาดของป้านที่ควรเลือก

คำถามต่อมาคือ ราคาใบชามันเกี่ยวกับขนาดป้านด้วยหรือ ป้านที่มีขนาดใหญ่ จะใช้ใบชามาก ส่วนป้านขนาดเล็กก็จะใช้ใบชาน้อย  ถ้าชาราคาสูง เพื่อความประหยัดเบี้ยก็มักจะเลือกใช้ป้านเล็กขนาด๑-๓ จอก

โดยทั่วไปป้านที่ใช้งานง่ายๆก็อยู่ในขนาด ๔-๖ จอก เพราะขนาดใหญ่พอจะใส่ชา จะแคะกากชาก็ทำได้ง่ายจะดื่มคนเดียวก็หมด จะดื่มหลายคนก็แบ่งได้ แต่ถ้าจะเลือกป้านเพื่อชงชาชั้นดีดื่มเอง ขนาด ๔-๖ จอก ก็เป็นขนาดที่ใช้ได้แต่ถ้าจะประหยัดหน่อยก็เลือกป้านที่ย่อมลงมาเป็นขนาด ๑-๓ จอก





๓) ผิวพรรณและกลิ่นกาย

การเลือกป้านไว้ใช้งานให้มองหาป้านที่มีผิวเกลี้ยงเกลา พรรณสะอาด เนื้อจะหยาบจะละเอียดก็ได้ สีผิวจะคล้ำแดง เหลือง ม่วง ก็สุดแต่ความนิยมชมชอบส่วนบุคคล ไม่ควรเลือกป้านที่มีคราบดำ หรือป้านที่ดูเก่ามีดินที่ไม่ใช่เนื้อของป้านจับเกรอะกรังเพราะเราไม่อาจรู้ได้ว่าคราบดำที่ว่าเป็นคราบชาที่เกิดจากการใช้งาน คราบน้ำมันยาขัดเกือก หรืออื่นๆที่เอามาแต่งแต้มเพื่อให้ดูเก่า หรือป้านนั้นผ่านอะไรมาบ้าง สิ่งที่ไม่ทราบเหล่านี้ที่อาจจะทำให้ป้านนั้นไม่เหมาะที่จะใช้ชงชา

กลิ่นกายของป้านอาจเป็นกลิ่นที่จะติดลงไปในน้ำชาที่ชงได้ บอกได้ยากว่ากลิ่นที่ติดป้านจะกำจัดให้หมดไปได้หรือไม่ป้านดินใหม่ที่เผาจนสุกด้วยความร้อนสูงและน้ำไม่ซึมผ่าน จะแทบไม่มีกลิ่นเลยกลิ่นกระดาษฟางหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ที่ห่อป้านที่อาจติดมาบ้าง มักไม่ใช่ปัญหาสามารถกำจัดออกไปได้   

หากเลือกป้านใหม่ไร้กลิ่นไม่ได้ ป้านที่จะเลิกไม่ควรมีกลิ่นที่กินไม่ได้เช่น กลิ่นเหม็น กลิ่นน้ำมัน กลิ่นน้ำยาเคมี


๔)ความเหมาะมือ

ป้านเป็นวัตถุที่ถูกหยิบฉวยในระหว่างใช้งาน  เมื่อจะซื้อป้านจึงควรเลือกที่เหมาะกับมือของคนใช้ป้าน
จุดที่ถูกหยิบจับบ่อยในระหว่างการใช้งานคือ จุก และหู  จุดที่ทำเป็นตุ้มกลมๆ บนฝาสำหรับใช้จับยึดหยิบฉวยเพื่อเคลื่อนยายฝา ขอเรียกจุดจับยึดนี้ว่า “จุก”  ส่วนหู คือ ส่วนที่ยื่นจากตัวป้าน ใช้สำหรับหยิบจับตัวป้านขณะใช้งาน ป้องกันไม่ให้มือถูกความร้อนจากตัวป้านลวกมือขณะใช้งาน


จุกที่พบกันดาษดื่นมากที่สุดมักทำเป็นรูปทรงกลม แต่ก็มีที่ทำเป็นห่วง เป็นหูหรือรูปสัตว์  ไม่ว่าจุกจะมีรูปร่างอย่างไรจุกควรติดกับตัวฝาอย่างมั่นคงแข็งแรงไม่เปราะบางแตกหักง่าย



การจับจุกทำได้หลายแบบขึ้นกับขนาด และลักษณะของจุก และความถนัดจุกขนาดเล็กมักใช้วิธีคีบด้วยปลายนิ้ว ๒ หรือ ๓ นิ้ว จุกขนาดใหญ่มักจับด้วยนิ้วหลายนิ้วเพื่อความมั่นคง


การจับจุกขนาดเล็ก


การจับจุกขนาดเล็ก



การจับจุกขนาดใหญ่

การจับจุกขนาดใหญ่

การเลือกจุกให้ทดลองจับด้วยการจับที่ถนัดและเหมาะสม  จุกที่ดีคือ จุกที่จับกระชับ ไม่ลื่นหลุดมือ และเมื่อปล่อยก็ไม่ควรเกี่ยวติดมือ ที่มักพบทั่วไปคือ จุกที่หยิบแล้วไม่ติดมือ ลื่นหลุดมือได้ง่าย หากซื้อหามาใช้งาน ไม่นานเราจะมีป้านที่มีแต่ตัวเพราะทำฝาแตกเพราะหลุดมือ


๕) การกักเก็บน้ำ

ป้านที่ใช้งานได้ต้องไม่แตกร้าวรั่ว การทดลองโดยวางป้านบนพื้นราบเติมน้ำลงในป้านจนเต็มเปี่ยม ตั้งไว้สักพักหากน้ำในป้านพร่องลงให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีรอยรั่วร้าวที่ใดสักที่



อีกวิธีในการสำรวจหารอยร้าวรั่วคือ เอาป้านลงต้มในน้ำเดือด ถ้ามีจุดร้าวรั่วบริเวณนั้นจะมีฟองอากาศเล็กๆผุดขึ้นเป็นสาย
วิธีตรวจสอบการแตกร้าวที่มักทำกันคือ ใช้ฝาป้านเคาะกับตัวป้านแล้วฟังเสียง  การเคาะที่ใช้จุดเปราะบางเคาะกันอาจทำให้แตกปิ่นได้ จุดเปราะบางเหล่านี้ได้แก่ ลิ้น หรือขอบฝา  มารยาทที่ดีควรขออนุญาตเจ้าของป้านก่อนเคาะเพื่อหยั่งความเต็มใจของเจ้าของป้าน การเคาะป้านนอกจากอาจจะทำให้ป้านแตกปิ่นได้แล้ว ยังไม่สามารถตรวจสอบการรั่วซึมได้แน่นอนบางครั้งป้านที่ร้าวรั่วก็ยังคงมีเสียงใสกังวานดี


๖)การถ่ายเทน้ำ

หน้าที่ของป้านนอกจากจะต้องกักเก็บน้ำได้โดยไม่รั่วแล้วยังต้องถ่ายเทน้ำให้ไหลออกทางพวยได้โดยสะดวก เมื่อเอาน้ำเดือดเติมใส่ป้านจนเต็มปิดฝาและเทน้ำออก 

การจับป้านเทให้น้ำไหลออกถ้าป้านขนาดใหญ่ควรจับ ๒ มือ โดยมือหนึ่งจับที่หูอีกมืดให้จับจุกเพื่อประคองไม่ให้ฝาหล่นขณะเทน้ำออกจากป้านในกรณีป้านขนาดเล็กอาจจะจับ ๒ มือเช่นป้านใหญ่หรือถ้าจะจับมือเดียวก็ได้โดยเอานิ้วชี้แตะไว้ที่จุกเพื่อประคองจุกระหว่างเท






การเทน้ำให้ดูว่าสามารถเทน้ำออกจากป้านได้ไหมหากรูอากาศที่ฝาอุดตัน หรือทางเดินน้ำในพวยอุดตัน จะเทน้ำไม่ออก น้ำที่เทออกจากป้านควรจะไหลได้คล่อง และไหลนิ่งเป็นสาย ไม่ติดขัด ไม่เลอะเทะไม่สำลักอากาศ ถ้าป้านที่มีลักษณะดังว่าก็สามารถใช้ชงชาได้แล้ว

ป้านบางใบช่างทำป้านทำฝาทำลิ้นได้สนิทกับตัวป้าน ขณะเทน้ำจะไหลออกเฉพาะทางรูพวยไม่ไหลออกทางปากป้านเลย ป้านที่มีลักษณะเช่นนี้มักมีราคาสูง เป็นงานโชว์ฝีมือเชิงช่าง แต่ไม่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับป้านที่เอาไว้พอชงชาได้


๘)วัสดุ  เขียนเรื่องการเลือกป้านไป ๗ตอนเพิ่งนึกขึ้นมาได้ว่าเขียนแคบไปหน่อยเพราะมุ่งไปที่ป้านเนื้อดินเผาเท่านั้น  ป้านชามีที่ทำด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น แก้ว เซรามิกและหิน  ไม่ว่าวัสดุจะเป็นอะไรสิ่งสำคัญคือจะต้องทนน้ำเดือดได้และไม่เป็นอันตรายต่อการใช้บริโภค

ป้านดินเผา  เก็บความร้อนได้ดี ชงชาที่ใช้อุณหภูมิสูง เรื่องทนน้ำเดือดโดยทั่วไปมักไม่ใช่ปัญหา สิ่งที่ควรเอาใจใส่ คือ ความเป็นพิษ โดยเฉพาะจากโลหะหนักซึ่งบอกได้ยากเพราะไม่อาจรู้ว่าช่างทำป้านใส่อะไรผสมลงไปในเนื้อดินบ้าง  วิธีที่พอจะทดสอบได้เอง คือ การตรวจหาโลหะหนักโดยใช้ไข่ขาวมีวิธีดังนี้

(๑) ต้มน้ำให้เดือดส่วนที่หนึ่งเทใส่ป้านดินที่ต้องการทดสอบจนเต็มส่วนหนึ่ง  น้ำเดือดอีกส่วนหนึ่งใส่ถ้วยสะอาดใช้ดื่มน้ำ  ทิ้งน้ำทั้งสองส่วนไว้จนน้ำเย็นถึงอุณหภูมิห้อง

(๒) ต่อยไข่เอาไข่เฉพาะไข่ขาวมา๑ ส่วนผสมน้ำ ๙ ส่วน  แบ่งมาใส่ในหลอดทดลองวิทยาศาสตร์ที่เป็นแก้ว๒ หลอดเท่าๆกัน หลอดละประมาณ ๕-๑๐ มิลลิลิตร (๑-๒ ช้อนชา) ใส่ใน หากไม่มีหลอดทดลองวิทยาศาสตร์ให้ใช้ภาชนะใสเหมือนๆกัน ๒ ชิ้น ภาชนะที่จะใช้ทุกชิ้นควรล้างสะอาดและแห้ง

(๓)ตวงน้ำเดือดที่เย็นแล้วจากป้าน ๒ มิลลิลิตร (ครึ่งช้อนชา)ใส่ลงในหลอดทดลองที่ใส่ไข่ขาวผสมน้ำหลอดหนึ่งและตวงน้ำเดือดที่เย็นแล้วจากถ้วยสะอาด ๒ มิลลิลิตร (ครึ่งช้อนชา)ใส่ลงในหลอดทดลองที่ใส่ไข่ขาวผสมน้ำอีกหลอดหนึ่ง แล้วเขย่าให้ผสมเบาๆ

(๔) น้ำเดือดที่เย็นแล้วจากถ้วยสะอาดไม่ควรมีโลหะหนัก เมื่อรวมกับน้ำผสมไข่ขาวแล้ว ควรจะใสไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราใช้เป็นตัวเปรียบเทียบ  หากน้ำเดือดที่เย็นแล้วจากป้านไม่มีโลหะหนักเมื่อรวมกับน้ำผสมไข่ขาวควรใสเท่าๆกับตัวเปรียบเทียบแต่หากมีโลหะหนักจะไข่ขาวจะจับตัวกันเหมือนไข่ขาวที่ถูกต้มและน้ำจะขุ่นจนสังเกตได้




ป้านแก้ว ในกรณีของป้านที่เป็นแก้วสิ่งสำคัญคือต้องทนน้ำเดือดได้ จะรู้ได้ต่อเมื่อเทน้ำเดือดใส่ในป้านแก้ว  หากใช้เฉพาะชงชาเขียวที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ๘๐องศาเซลเซียส ก็ไม่เป็นที่ต้องกังวลนัก

ป้านหิน ที่ใช้งานมักทำจากหินแกรนิตซึ่งทนความร้อนได้ดีไม่มีปัญหาแตกร้าว แต่หากเป็นหินที่มีลักษณะผลึกเป็นแผ่นๆก็อาจจะแตกได้ ต้องอาศัยผู้ชำนาญเรื่องหินช่วยชี้แนะ


10 April 2013

'Where to Buy Tea in China Town, Bangkok?' - by Manfred

 from: http://www.renegadetravels.com/where-to-buy-tea-in-chinatown-bangkok/


Where To Buy Tea In Chinatown, Bangkok

By : Manfred | 28 Dec 2012 
Tea At Yaowarat Soi 6 Market
Tea At Yaowarat Soi 6 Market
If you’re a tea drinker, then Chinatown is one of the few places in Bangkok where you can find a good selection of loose teas. My favorite place to shop for tea is at Yaowarat Soi 6 Market, which is a small, covered lane that runs between Charoen Krung Road and Yaowarat, right in the heart of Chinatown. You will see about ten different shops that sell lose tea, and all seem to sell mostly the same teas. However, there are some differences. High-quality teas, such as Long Jing (Dragon Well) tea keep better if they are refrigerated, so look for a shop that has a refrigerator. If you’re walking from the Charoen Krung Road end, there is a good shop on the right hand side. You will see the fridge behind all the teas. At this shop they will also let you taste the teas before you buy them, so you can be sure that the quality is what you want
Tea Tasting In Chinatown
100 grams of Long Jing tea at this shop costs 280 baht ($9, £6), which is a very reasonable price. I always buy my loose tea here. They also speak English at this shop, which is very useful for me.

Double Dogs Tea Room In Chinatown

Double Dogs Tea Room in Chinatown
Double Dogs Tea Room in Chinatown
If you just want to drink some high-quality tea at a cafe, then Double Dogs is the place to head to. This is one of the very few cafes in Chinatown that has aircon, so it’s a real treat if you’ve been walking around in the heat for hours. They have a very good choice of quality teas, the most expensive ones being around 250 baht ($8, £5) per pot. As the teas are very high-quality, you can refill the pop 2-4 times, depending on the tea. It’s a fairly big cafe in a quite minimalist style, and has a very laid-back vibe.
As well as tea, they sell a range of other drinks, cakes and cookies and a few cooked dishes that are suitable for lunch or dinner. I always pop in to this cafe when I’m in Chinatown.
Double Dogs is located at 406 Yaowarat Road, near the junction with Yaowa Phanit Road. Telephone 086-329-3075 or 080-439-2227.

05 April 2013

Interviews: บทสัมภาษณ์ (ใน ผู้ัจัดการออนไลน์)

จาก http://www.manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000015078

“Double Dogs” ร้านชาสุดชิก หลีกความวุ่นวายใจกลางเยาวราชดูภาพชุดจาก Manager Multimedia
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์6 กุมภาพันธ์ 2556 09:37 น.



       บรรยากาศการจับจ่ายบนถนนเยาวราชเริ่มมีสีสันขึ้นมาอีกครั้งในช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีน คงจะดีหากมีร้านให้นั่งพักผ่อนในบรรยากาศสบายเหมือนอยู่อีกโลก เติมพลังด้วยการจิบชาเลื่องชื่อในแต่ละมุมโลกที่ผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี เติมเต็มร่างกายที่อ่อนล้า พร้อมออกไปเผชิญความวุ่นวายอีกครั้งกับร้าน “ดับเบิล ด็อกส์ ที รูม” (Double Dogs Tea Room)
จงรักษ์ กิตติวรการ เจ้าของร้าน Double Dogs Tea Room
       แค่ชื่อร้านก็คงจะสะดุดหู และไม่คิดว่าเป็นร้านที่ตั้งอยู่ย่านเยาวราช แท้จริงแล้วชื่อนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสัตว์เลี้ยงแต่อย่างใด แต่เป็นปีเกิดของสองเพื่อนซี้ที่ตัดสินใจร่วมดำเนินธุรกิจร้านชาดับเบิล ด็อกส์ “จงรักษ์ กิตติวรการ” เจ้าของร้านชาเล็กๆ ที่แทรกตัวอยู่บนถนนเยาวราช แม้จะเป็นร้านน้องใหม่ แต่จากประสบการณ์ และการถูกยกย่องให้เป็น “กูรู” ด้านชา กลับกลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวเข้ากับย่านเยาวราชได้อย่างไม่ขัดเขิน
       ตึกแถวเพียง 1 คูหาตรงข้ามซอยเยาวราช 4 ถูกเนรมิตให้เป็นจุดแวะพักสำหรับนักดื่มชา ที่เขายกให้เป็นพระเอกของร้าน ตามด้วยเครื่องดื่มกาแฟ และผลไม้ปั่น จากเดิมที่ตั้งของร้านนี้เป็นร้านขายขนมเปี๊ยะที่ปิดตัวลง พร้อมเปิดให้เช่า โดยเขายอมรับว่าหลังจากเช่าแล้วยังไม่มีธุรกิจที่จะทำอยู่ในหัว เพียงแต่คิดว่าเป็นทำเลที่ดีหากปล่อยให้หลุดมือคงน่าเสียดาย
       สุดท้ายอาศัยความเป็นลูกหลานชาวเยาวราช เคยวิ่งเล่นย่านนี้ในวัยเด็ก กลับพบว่ายังไม่มีร้านที่สามารถนั่งทอดอารมณ์ เฝ้าดูความเป็นไปตามแบบฉบับคนเยาวราช รวมถึงบางคนอาจต้องการนั่งพักผ่อนปลดปล่อยความเมื่อยล้าจากการจับจ่ายใช้สอยก็หาได้ยากเต็มที ดังนั้นร้าน “Double Dogs Tea Room” จึงเกิดขึ้น โดยอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน รวบรวมชาชั้นดี 3 ชนิดที่รู้จักกันดี อย่าง ชาจีน ชาญี่ปุ่น และชาอังกฤษ เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งชาของแต่ละประเทศก็จะคัดสรรสายพันธุ์ที่ขึ้นชื่อและยอมรับว่าเป็นสุดยอดชามาให้ลูกค้าลิ้มลอง
       อย่าง ชาจีน พันธุ์จุยเซียน จะมีกลิ่นโสม รสชาติเฝื่อนเล็กน้อย เปรียบเหมือน “บัณฑิตหนุ่ม ลี้ลับ (สงบ) ในป่าสน” ส่วนพันธุ์จุย กิม กู รสชาติและความรู้สึกแรกที่ได้ลิ้มลองประหนึ่งสโลแกน “แก่ ใจดี สปอร์ต ชานเมือง” จากชารสเข้ม รับรู้ถึงความแห้ง ไม่เลี่ยน มีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งคำบรรยายสรรพคุณเหล่านี้ล้วนออกมาจากความรู้สึกที่เจ้าของร้านรับรู้ได้จากการลิ้มลอง และถ่ายทอดออกมาเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงอารมณ์เดียวกัน ส่วนชาญี่ปุ่น ก็จะมีชามัตฉะ (ผง) ให้ความนุ่มลิ้น ลื่น เบา กรุ่นกลิ่นชา และเชนฉะ ส่วนชาอังกฤษจะเป็นชาซีลอน เป็นต้น
       “ชาแต่ละสายพันธุ์จะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องรสชาติ ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของนักดื่มชา ซึ่งหากใครเจอตัวที่ใช่แล้วก็เหมือนรักแรกพบ จะรับรู้ได้ถึงเสน่ห์ที่ยากจะลืมเลือน โดยร้าน Double Dogs Tea Room มีให้เลือกทั้งชาเย็นสำหรับนักดื่มชาทั่วไป และชาร้อน ของผู้ที่ต้องการดื่มด่ำรสชาติชาที่แท้จริง”
       แม้ร้าน Double Dogs Tea Room จะตั้งอยู่ใจกลางเยาวราชที่ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนมาจับจ่ายใช้สอย แต่ลูกค้าหลักกลับกลายเป็นชาวต่างชาติ อย่างฝรั่งเศส อิตาเลียน และญี่ปุ่น ที่แบ่งเป็นกลุ่มนักดื่มชา จะเลือกชาจีน กับชาญี่ปุ่น ส่วนลูกค้าที่ชอบดื่มชาญี่ปุ่นจะเลือกชามัตฉะ ขณะที่ผู้ชอบดื่มสบายๆ จะเลือกชาที่ผสมนม หรือผสมมะกรูดที่ให้รสเปรี้ยว อย่างเมนู “ด็อกเกรย์” ที่ทางร้านคิดสูตรขึ้นเอง
มุมจิบชา
       นอกจากความโดดเด่นในเรื่อง “ชา” แล้ว บรรยากาศร้านก็ชวนให้ทอดอารมณ์ไม่น้อย จากมุมสงบนั่งจิบชาหลายมุม มีการนำงานไม้มาตกแต่งเพิ่มความเป็นธรรมชาติ ประกอบเสียงเพลงเคล้ากลิ่นชาชวนรื่นรมย์
นักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก
       แม้ร้านนี้จะเปิดมาได้เกือบ 1 ปีแล้ว ลูกค้าเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ แต่ก็ไม่ได้หวือหวามากนัก ซึ่งเจ้าของร้านบอกว่าไม่หวังผลกำไรมากนัก เพียงต้องการเดินตามความฝันและทำในสิ่งที่ตนเองรัก แต่ขอโอกาสให้ผู้ที่ชื่นชอบชาเข้ามาลิ้มลอง แล้วจะหลงรักตั้งแต่แรกชิม...
       
       ***สนใจติดต่อ 08-6329-3075 หรือที่ facebook : DoubleDogsTeaRoom***