29 March 2013

พิธีชาในสายฝน ame no chaji (ตอนที่ ๓)

บันทึก "พิธีชาในสายฝน ame no chaji" (ตอนที่ ๓) 
                                                             โดย Tee Jongrak (จงรักษ์ กิตติวรการ)



ส่องไฟ ชมหม้อต้มน้ำ
กระปุกผงชามัตจะ

จากจุดแรกที่ชมม้วนอักษร เทียนบนเชิงสามขาถูกยกไปทีละจุด ชมเครื่องใช้ทุกชิ้นที่ถูกเลือกเข้ามาประกอบในพิธีชา ได้แก่ หม้อเหล็กใช้ต้มน้ำ กระปุกบรรจุผงชามัจฉะ ชั้นไม้วางของ ของทุกชิ้นถูกเลือกมาใช้อย่างจงใจให้มีความสัมพันธ์กัน แต่ละชิ้นจึงเหมือนจิ๊กซอว์คำบอกใบ้ปริศนาให้ผู้ร่วมพิธีต้องใช้ความสังเกต และความรู้ในการไขปริศนานั้น

อุปกรณ์ในการเตียมถ่าน จากซ้าย กระบุงใส่ถ่าน ขนนกปัดฝุ่น และตะเกียบคีบถ่าน
คุณจอห์น นำกระบุงสานบรรจุสิ่งจำเป็นสำหรับ “กรรมวิธีเติมถ่าน” เข้ามาในห้อง แล้วนั่งลงหน้าเตา ห่วงโลหะกลมสองห่วง ถูกเกี่ยวเข้าไปในหูของหม้อเหล็กต้มน้ำที่อยู่บนเตา  ใช้ยกหม้อเหล็กที่ร้อนออกจากเตา วางลงบนกระดาษขาวปึกหนึ่งที่พับทบครึ่งได้ความหนาราวครึ่งนิ้ว ซึ่งถูกชักออกมาจากในเสื้อของคุณจอห์นในชั่วครู่ก่อน เมื่อมองลงไปในเตาที่เจาะลึกลงไปในพื้น กรุผนังรอบด้วยแผ่นสเตนเลสเป็นมันวาว  พื้นเตามีขาหยั่งสามขา ที่ใช้รองรับหม้อเหล็ก กลางวงขาหยั่งมีถ่านคุแดง ท่อนเล็กๆ ๓ ท่อน  คุณจอห์น ดำเนินกรรมวิธีไปพลางเล่าประกอบไปพลาง  หาไม่พวกเราคงไม่เข้าใจอะไรเลย

ขนนกเดี่ยว ขนาดใหญ่ต่อด้าม ถูกใช้เป็นอุปกรณ์ปัดฝุ่นทำความสะอาดเตา ตะเกียบเหล็กความยาวเกือบศอกใช้คีบจับถ่านจากในกระบุง  วางลงในเตา พอวางถ่านไปได้ก้อนหนึ่ง  คุณจอห์นชะงักไปชั่วครู่ แล้วพูดว่า ตนลืมอะไรไปบางอย่าง  สิ่งที่คุณจอห์นลืม คือ เติมขี้เถ้าเปียก

พิธีเตรียมถ่าน ที่อยู่ในมือเจ้าบ้าน คือ ชามบรรจุขี้เถ้าเปียก
ขี้เถ้าเปียกเป็นขี้เถ้าจากเตาที่ คุณจอห์น เตรียมไว้ล่วงหน้าโดยเอามาคลุกผสมกับน้ำชา ที่เรียก houji cha   คุณจอห์น ใช้พลั่วอันเล็ก ตักขี้เถ้าเปียกจากชามทองเหลือง ไล่ใส่ลงไปบริเวณมุมเตาทั้งสี่มุมจนครบ แล้วจึงกลับมาเรียงถ่านต่อ

ภายในกระบุงถ่าน บรรจุถ่านไม้หน้าตัดลายดอกเบญจมาศ ถ่านต้นหม่อนเคลือบปูนขาว และห่วงเหล็กใช้เกี่ยวกับหูหม้อต้มน้ำ เพื่อยกหม้อต้มน้ำ
ถ่านที่ใช้ในพิธีชา เป็นถ่านไม้เฉพาะ เผาจากไม้พวกโอ๊ค ชื่อ kunugi (ก่อขี้กวาง) หน้าตัดของถ่านแตกเป็นลายเส้นตามแนวรัศมี เรียกกันว่าเป็นลายดอกเบญจมาศ ถ่านชนิดนี้ให้ความร้อนสูง ติดไฟเผาไหม้ได้นาน  เพื่อให้ไม่เกิดควันขณะใช้ คุณจอห์น ต้องเอาถ่านไปล้างน้ำ และตากให้แห้งก่อน  กรรมวิธีเกี่ยวกับถ่านเป็นงานที่มีรายละเอียดมาก แสดงให้แขกเห็นถึงความพิถีพิถันเอาใจใส่ในการเตรียมงาน  โดยสามารถโยงกลับไปถึง คัมภีร์ชา “ฉาจิง” ตำราเกี่ยวกับชาเล่มเก่าแก่ที่สุดนี้แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง โดย ลู่อวี่  ซึ่งมีการกำหนดรายละเอียดมากยิ่งกว่าที่ญี่ปุ่นทำเสียอีก จะเท็จจริงอย่างไรนั้นต้องลองตรวจสอบอีกที

เตาขาหยั่งสามขา ที่เห็นสีน้ำตาลอ่อน คือ ขี้เถ้าแห้งที่อยู่ภายใน สีเข้มที่มุม คือ ขี้เถ้าเปียกที่ถูกเติมลงไป
ใช้ตะเกียบคีบถ่านเติมลงในเตา ตามการจัดเรียงถ่านที่ถูกกำหนดไว้เป็นแบบแผน
ถ่านที่เรียงเสร็จเรียบร้อย
ถ่านแต่ละก้อนที่นำมาเติมลงในเตามีขนาด และรูปร่างความแตกต่างกันไปตามกำหนดของแต่ละสำนัก  ผู้จัดพิธีจึงต้องตัดถ่านให้ได้ตามนั้น  แต่สามารถหาซื้อชนิดที่ตัดไว้สำเร็จรูป จัดเป็นชุดตามกำหนดของแต่ละสำนักได้ที่ร้านขายถ่านสำหรับพิธีชาโดยเฉพาะ  ลองดูในเวปที่ขายถ่านที่ว่า จะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

นอกจากจะกำหนดรูปร่าง และขนาดถ่านแล้ว  สำนักชา ยังกำหนดรูปแบบและลำดับการเรียงถ่านอีกด้วย  ถ่านถูกเรียงให้ติดไฟได้ทั่วทุกก้อน และจัดให้มีช่องว่างให้ลมเข้าได้  ถ่านก้อนสุดท้ายที่ถูกวางลงในเตา คือ ถ่านที่มีรูปร่างคล้ายกิ่งไม้มีง่ายแยก ฉาบภายนอกด้วยปูนาวจนมีสีขาวทั้งแท่ง  ถ่านชนิดนี้ทำมาจากไม้ต้นหม่อน มีสมบัติติดไฟได้เร็วเป็นต้นเพลิงต่อให้ถ่านก้อนอื่นๆ

ผะอบเครื่องหอม รูปหัวพระโพธิธรรม โดยศิลปินชาวเยอรมัน
ก้อนลูกกลอนเครื่องหอม ที่บรรจุภายในผะอบ
หลังเรียงถ่านในเตา คุณจอห์น หยิบผะอบเครื่องหอม ภายในบรรจุก้อนสีดำๆ คล้ายลูกกลอน ๓ ก้อน  ใช้ตะเกียบถ่านคีบก้อนเครื่องหอมวางลงไปในเตา ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งใกล้ไฟ อีกก้อนวางห่างออกมา  ก้อนที่อยู่ใกล้ไฟจะถูกเผาก่อนอีกก้อน เพื่อให้ส่งกลิ่นหอมต่อเนื่องได้ยาวนาน เครื่องหอมที่ใช้กันมีอยู่ ๒ แบบ คือ ที่ปั้นเป็นลูกกลอน กับชนิดที่มีลักษณะเป็นเศษไม้    การเลือกใช้กลิ่นใช่ว่าจะเลือกอย่างไรก็ได้ หากแต่เลือกตามบรรยากาศที่ต้องการสร้าง เลือกให้เหมาะกับฤดูและกาล จึงจะสามารถสร้างห้วงของกาลนั้นๆขึ้นในห้องพิธีชาได้สำเร็จ 

เมื่อวางเครื่องหอมแล้ว ก็ยกหม้อเหล็กต้มน้ำกลับวางลงในเตา  ข้าวของเครื่องใช้แต่ละชิ้น แม้แต่ชิ้นเล็กชิ้นน้อย กระบุงตระกร้าสาน เจ้าบ้านสามารถจดจำเล่าเรื่องที่มาที่ไปราวกับมัคคุเทศน์นำชมของในพิพิธภัณฑ์ทีเดียว

ที่น่าสังเกต คือ ช่างแต่ละคนมักทำสัญลักษณ์ ลวดลายเฉพาะของตนซ่อนไว้บนชิ้นงาน เช่นช่างปั้นถ้วยในเกียวโตคนหนึ่ง ก็มักทำรูปเต่าไว้ในงานทุกชิ้นสังเกตได้ง่ายบ้างยากบ้าง ที่ผ่านมาไม่เคยเอะใจว่าการทำสัญลักษณ์นี้เป็นธรรมเนียมนิยมของช่างญี่ปุ่น คิดแต่ว่าคงเป็นลักษณะเฉพาะตัวช่างคนนั้นที่ช่างคิดช่างทำ  จนวันนี้ คุณจอห์น ชี้ให้ดูฉากที่มีลายมือสวยงาม แต่ขอบของฉากเป็นผ้าทอลาย หงส์ (ภาษาญี่ปุ่นว่า โฮ) และเมฆ (ภาษาญี่ปุ่นว่า อุน)  ถ้าไม่ได้รู้ที่มาที่ไปก็คงคิดแต่ว่าเป็นเพียงลวยลาดประดับฉาก ไม่ได้มีความหมายแฝงอะไรพิเศษ แต่แท้จริงแล้วเป็นสัญลักษณ์ของช่างไม้ทำฉากนี้ที่ชื่อ โฮอุน

ข้อความบนฉาก สะท้อนความคิดลัทธิชาญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญอย่างสูงต่องานน้ำชาที่เตรียมขึ้นรับแขก  การเตรียมการทุกอย่างต้องทำอย่างดีที่สุด โดยถือว่าโอกาสที่รับแขกมีโอกาสเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่อาจเกิดได้อีก 

              โอกาสเพียงหนึ่ง พบเพียงครั้ง

              ฟังเสียงลมผ่านใบสน
              สหายผู้เวียนว่ายชั่วโกฎิกัปป์

                        การพานพบในครานี้
                                                                                 หามีอีกได้ไม่

一期一合 松風の声聴え 千代にわたれ友 この世の出逢い 又となき日を only moment, only gather listen to the pine wind friend who acrosses the eternal our meeting in this world shall be never again calligraphy by the abbot of Daitoku Ji, Kyoto.

No comments:

Post a Comment