โดย Tee Jongrak (จงรักษ์ กิตติวรการ)
หลังจากจบชาถ้วยที่สอง คุณโอ ชงชาไปสิบสองถ้วย รวมตีชาไปไม่ต่ำกว่าพันที คงพอกับโป๊ว อั่ง เสาะ (จอมดาบหิมะแดง) ที่หัดชักดาบพันครั้งทุกวัน น้ำร้อนในหม้อใช้ไปเกือบหมด จึงพักกระบวย เติมน้ำร้อน พักคนชง ให้กินขนม และดื่มชา ซึ่งโดยปกติแล้วคนชงในพิธีมักจะไม่ได้ดื่ม
บรรยากาศในห้องของงานน้ำชาตามแบบไม่เป็นทางการถูกพักไปด้วย กลายเป็นงานตามสบายนอกรูปแบบ เป็นช่วงให้เจ้าบ้านได้สนทนากับพวกเราอย่างไม่มีพิธีรีตอง คุณจอห์น เล่าที่มาที่ไปของชามแต่ละใบ เครื่องใช้ทีละชิ้น ตอบข้อซักถามต่างๆนาๆ ข้าวของเครื่องใช้ในงานพิธีชาจะถูกเลือกให้เหมาะสมและสอดคล้องกับ theme ของงานที่เจ้าพิธีกำหนด โดย theme ของงานจะค่อยๆถูกคลี่คลายออกในระหว่างดำเนินพิธี ผ่านข้าวของเครื่องใช้แต่ละชิ้นๆที่ถูกนำออกมาให้แขกเห็น โดยแขกผู้ร่วมพิธีต้องเอามาตีความ theme ของงานเองราวกับการเล่นเกมส์ใบ้ความ
คุณจอห์น เลือกข้าวของเครื่องใช้ที่มีที่มาแตกต่างกัน ทั้งจากเกาหลี จีน อเมริกา ญี่ปุ่น ทั้งหมดเป็นของที่ได้มาจากเหล่าสหายของคุณจอห์นทั้งสิ้น ตั้งแต่ม้วนอักษรเขียนคำตกหล่นที่เขียนโดยเพื่อนนักบวชชาวเกาหลี ตลับเครื่องหอมพระโพธิธรรมทำโดยเพื่อนชาวเยอรมัน ช้อนตักชาโดยสหายชาวอเมริกัน ข้าวแต่ละชิ้นไม่ได้เป็นของซื้อขายที่มีราคาแพง หากประจุความทรงจำและมิตรภาพที่ทำให้ของชิ้นนั้นๆมีความสำคัญกับคุณจอห์น
“พุทธอยู่ที่ไหน” ในม้วนอักษรซึ่งปกติเมื่อแสดงดอกไม้ ม้วนอักษรจะถูกเก็บออกไป แต่ม้วนอักษรกลับถูกม้วนอย่างเรียบร้อยแล้วตั้งไว้ให้เห็นอย่างจงใจ
ดอกไม้ดอกเดียวในแจกัน
พระโพธิธรรมซึ่งเป็นผู้นำพุทธศาสนานิกายเซนจากอินเดียมาเผยแพร่ในจีน
ดอกบัวที่ฉลุเป็นลายของชั้นวางของ
“พุทธะอยู่ที่ไหน” เจ้าภาพสำทับ พร้อมทั้งเล่าเรื่องพระมหากัสสปที่สามารถตีปริศนาธรรมของพระพุทธเจ้าได้ เมื่อครั้นชุมนุมเหล่าสาวก แล้วพระพุทธเจ้าชูดอกไม้ดอกเดียวขึ้นในที่สมาคม ส่วนพวกเราก็ต้องตีปริศนาของคุณจอห์นกันต่อ
แม้ว่าคนญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่าเป็นคนตรงต่อเวลา แต่งานเลี้ยงน้ำชาคราวนี้กลับล่วงเวลาไปสองชั่วโมงกว่า ท่านเจ้าบ้านก็ยังสนุกกับการสนทนา อยากรั้งให้แขกอยู่กันต่อไป แม้จะดูเหนื่อยล้าจากการเตรียมงานโดยไม่ได้นอนเลยทั้งคืนก็ตาม หากตามใจท่านเจ้าบ้านพวกเราคงต้องอยู่ค้างกันโต้รุ่งเป็นแน่แท้
งานเลี้ยงน้ำชาญี่ปุ่นเป็นงานที่มีรายละเอียดมาก ใช้เวลาและกำลังในการเตรียมการมหาศาล การจะจัดงานให้มีความสมบูรณ์ แม้ในญี่ปุ่นเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่การจัดนอกญี่ปุ่นยิ่งยากกว่าหลายขุม เพราะต้องอาศัยวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่ทำขึ้นเฉพาะมากมาย สำนักชากับสกุลช่างต่างๆที่ผลิตข้าวของเครื่องใช้สำหรับพิธีชาจึงต้องพึ่งซึ่งกันและกัน ที่เห็นได้ชัดอาจจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสำนักชาและผู้ผลิตชา เช่น koyama-en (http://www.marukyu-koyamaen.co.jp/english/index.html) กับสำนัก urasenke ซึ่งเป็นสำนักชาที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ โดยสำนักชานี้จะเลือกใช้ชาของ koyama-en เป็นหลัก
ฝนเพิ่งหยุดตก ท่านเจ้าบ้านพาทุกคนออกมาชมสวนเป็นการส่งท้าย พวกเราผ่านรั้วดอกมอร์นิ่งกลอรี่ที่รักษาเวลาไม่บานรอให้ชม ท่านเจ้าบ้านออกมาส่งที่หน้าบ้าน และยังคงทิ้งคำถามไว้ให้คิด คือ สิ่งต่างๆที่ถูกปรุงขึ้นในพิธีชานี้นำไปสู่อะไร การเสพย์ชา ความบันเทิงเริงรมย์อย่างประณีต การปฏิบัติธรรมเพื่อการรู้แจ้ง การเรียนรู้ธรรมชาติ หรือเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกชนชั้น
No comments:
Post a Comment