โดย Tee Jongrak (จงรักษ์ กิตติวรการ)
เวลาล่วงเลยกำหนดการเดิมมาพอควร เพราะรอท่าให้ฝนหยุด เพื่อออกไปชมสวนก่อนจะเข้าเรือนน้ำชา ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามแบบแผนที่กำหนดไว้ นอกจากฝนไม่หยุดแล้ว จากฝนเปาะแปะในตอนสายก็กลับเป็นฝนที่ลงเม็ดใหญ่ขึ้น เจ้าบ้านจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เราเข้าสู่เรือนน้ำชาจากทางเข้าในตัวบ้านซึ่งเป็นทางเข้าเฉพาะของเจ้าบ้าน โดยปกติแขกจะต้องขึ้นสู่เรือนชาจากทางสวนชา ซึ่งเป็นทางเข้าคนละทางกัน พร้อมทั้งปรับบรรยากาศในเรือนน้ำชาเสียใหม่ โดยเอามู่ลี่ลงทั้งหมด หรี่แสงให้ห้องอยู่ในเงา
พิธีชาไม่ใช่เรื่องเฉพาะชาเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ถ้าพูดอย่างกว้างๆคือ รวมบรรยากาศแวดล้อมทั้งหมดที่ผู้ร่วมพิธีพึงรับรู้ได้ ด้วยทุกอายตนะ ไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ผู้จัดพิธีชาที่สามารถ จึงต้องเข้าใจธรรมชาติและจัดบรรยากาศให้รองรับความรับรู้ทั้งหมดของผู้เข้าร่วมพิธี ในสายของการศึกษาพิธีชาญี่ปุ่น พิธีชาจึงถูกจำแนกให้มีรูปแบบอย่างหลากหลายตามโอกาส เช่น งานน้ำชารับอรุณ งานน้ำชายามเช้า งานน้ำตอนเที่ยง งานน้ำชาหลังอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการบรรยากาศให้เหมาะสมกับโอกาสนั้นๆ
ตามวันเวลาที่เจ้าบ้านกำหนด พิธีชาควรจัดแบบงานน้ำชาตอนเที่ยง แต่สภาพอากาศขมุกขมัววันฝนตกทำให้เที่ยงนั้นไม่เป็นดั่งเที่ยง ที่ควรแจ่มใส รูปแบบงานน้ำชาตอนเที่ยงจึงไม่เหมาะสม เจ้าบ้านปรับบรรยากาศ เปลี่ยนใช้รูปแบบพิธีชาที่เรียกว่า yobanashi no chaji (งานน้ำชาราตรีสังสรรค์) เพราะไหนๆฟ้าก็ครึ้มแล้ว ลดมู่ลี่ในเรือนน้ำชาลงทั้งหมด หรี่แสงในห้องให้อยู่ในเงา เลียนแบบบรรยากาศกลางคืน ที่ทำเช่นนี้ได้ก็ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านการฝึกฝนมานับสิบปี
yobanashi no chaji แปลตามพยัญชนะว่า งานน้ำชาราตรีสังสรรค์ เป็นงานน้ำชาที่จัดกันในกลางคืนช่วงฤดูหนาว เพราะอากาศหนาวนักนอนไม่หลับ ก็ชวนกันมาคุย ทำความอบอุ่นกันด้วยงานเลี้ยงน้ำชา อาจเปิดช่องหน้าต่างชมความงามของหิมะที่พัดลอดเข้ามา คุยกันไปจนเช้า เมื่ออากาศอุ่นขึ้นจึงแยกย้ายกันเข้านอน ส่วนชื่อ ame no chaji (งานน้ำชาในสายฝน) เป็นชื่อที่ถือวิสาสะตั้งชื่อให้พิธีชาที่คุณจอห์นปรับขึ้นนี้เอง ไม่มีในสารบบที่สำนักชาบัญญัติ อาจด้วยเวลาฝนตกไม่อาจทำนายได้ จึงมีการเตรียมงานเลี้ยงน้ำชารับฝนไว้
แอบเห็นเจ้าบ้านขนถ่านติดไฟคุแดงท่อนเล็กๆสามก้อน กับหม้อต้มน้ำร้อนหายเงียบเข้าไปในห้องน้ำชา และแล้วก็ออกมาเชื้อเชิญให้แขกเข้าห้อง ตอนนี้มีอุปกรณ์ที่แขกที่ได้รับเชิญมาร่วมพิธีชาต้องเตรียมมาเป็นการส่วนตัว ได้แก่ กระเป๋าผ้าไหม ภายในมีกระดาษฟางพับครึ่งสำหรับรองขนมปึกหนึ่ง มีดขนมเล่มหนึ่ง และพัดหนึ่งด้าม เจ้าบ้านผู้อารีได้เตรียมเอาไว้ให้ ด้วยรู้ว่าแขกมือไม่อาชีพแบบพวกเราคงจะไม่มีแน่ๆ สำหรับแขกชาวญี่ปุ่น ๒ คนดูเหมือนจะรู้งานดี ทั้งคู่ควัก ทาบิ ส่วนตัว (ถุงเท้าผ้า ที่ตัดเย็บให้มีนิ้วหัวแม่เท้าแยกจากนิ้วอื่นๆ แบบที่เห็นในหนังซามูไร เพื่อจะได้คีบรองเท้าแตะคีบได้) ที่เตรียมเอาไว้ออกมาสวมก่อนเข้าห้อง และได้เตรียมมีดขนมมาให้คนอื่นๆยืมด้วย
ในห้องค่อนข้างมืด ทุกอย่างเห็นเป็นเงาตะคุ่มสีเงา มีกลิ่นไม้สนจากเครื่องหอมที่ถูกเผาลอยอวลอยู่อย่างบางเบา
ห้องชาตามแบบสำนัก urasenke สายที่คุณจอห์นศึกษามา กำหนดขนาด ห้องสี่เสื่อครึ่ง (มีพื้นที่เท่ากับพื้นที่ปูด้วยเสื่อตาตามิได้สี่ผืนครึ่ง) ในมณฑลนี้ คือ โลกทั้งหมดในระหว่างที่พิธีชาดำเนินไป ขนาดห้องจำกัดจำนวนแขกที่เข้าร่วมได้ไม่เกิน ๕ คน แต่ คุณจอห์น สร้างห้องชาใหญ่ราวขนาด ๒ ห้องชาปกติต่อกัน แต่สามารถกั้นแยกให้เป็นห้องชาขนาดสี่เสื่อครึ่งตามขนบได้
“เขาก็คือเขา น้ำก็คือน้ำ พุทธะอยู่ที่ไหน” คือข้อความบนม้วนภาพนั้น
No comments:
Post a Comment