29 March 2013

พิธีชาในสายฝน ame no chaji (ตอนที่ ๑)

บันทึก "พิธีชาในสายฝน ame no chaji (ตอนที่ ๑)" 
                                                                 โดย Tee Jongrak (จงรักษ์ กิตติวรการ)

ผมได้รับคำเชิญสำหรับพิธีชาแบบไม่เป็นทางการโดยอีเมล์จาก John Toomey  ต่อไปนี้ขอเรียก คุณจอห์น อีเมล์ระบุวันเวลา สถานที่ ลำดับพิธีกรรม กำกับด้วยเวลาอย่างละเอียด พร้อมคำแนะนำทั้งในส่วนการแต่งกาย และการปฏิบัติ  โอกาสนี้หาไม่ได้ง่ายนัก จึงขอเก็บ "บรรยากาศ" มาเล่าให้ฟัง

คุณจอห์น ผู้นี้เราเพิ่งรู้จักกันที่ร้านชาของผมเอง ด้วยสหายท่านหนึ่งไปฟังคำบรรยายของคุณจอห์นในหัวข้อเครื่องถ้วยที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีชา เห็นว่ารสนิยมน่าจะต้องตรงกัน จึงได้โยงให้เราได้พบปะกัน

ในวันงานน้ำชา ผมพยายามไปให้ทันเวลา ตามธรรมเนียมปฏิบัติมักจะถึงก่อนกำหนดเวลาสักครึ่งชั่วโมง และไม่ควรช้าเด็ดขาด  การจราจรขาออกจากเมืองที่หนาแน่น พร้อมสายฝนโปรยลงมาตลอดทาง แม้จะเป็นวันเสาร์ ผมไปถึงที่หมายช้าไปราว ๒๐ นาที  พอถึงที่หมาย ก็เห็นเจ้าบ้าน อยู่ตรงหน้าบ้านริมรั้ว กำลังคุยง่วนกำกับงานแต่งสวนให้กับหนุ่มที่รับงาน

เจ้าบ้านผู้อารี  รั้วไผ่เปียกฝนชุ่มเขียว  ประตูทางเข้า
เจ้าบ้านผู้อารี รั้วไผ่เปียกฝนชุ่มเขียว ประตูทางเข้า
บ้านของคุณจอห์น เป็นบ้านเดี่ยวในโครงการหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ รอบตัวบ้านมีบริเวณจัดเป็นสวน รั้วบ้านเตี้ยแต่ต้นไม้สูงเกินศีรษะขึ้นแน่นหนา จากภายนอกรั้วจึงมองไม่เห็นตัวบ้าน

เมื่อเสร็จธุระ คุณจอห์น ก็นำผมผ่านประตูรั้วบ้านเข้าภายใน  ในวันที่ฝนตกแหมะๆ สวนเขียวครึมเปียกชุ่มน้ำให้บรรยากาศสดชื่นเป็นพิเศษ  ด้านหน้ามีศาลาไม้แปดเหลี่ยม เสียงน้ำไหลเอื่อยๆลอยมากระทบหู  ที่มาของเสียงซ่อนอยู่หลังรั้วดอกมอร์นิ่งกลอรี่ ที่บานรับแขกยามสาย  เห็นเพียงลำธารเล็กๆไหลลอดใต้รั้วออกมาคั่นพวกเรากับตัวบ้าน หลังรั้วนั้นเป็นทางเข้าสู่เรือนน้ำชา ที่แปลงสภาพจากโรงรถ คุณจอห์นอธิบาย แล้วพาข้ามลำธารเดินเข้าประตูบ้าน ที่มีรองเท้าจากแขกเรื่อจอดเป็นระเบียบอยู่หน้าบ้าน

ทันทีที่ย่างเข้าตัวบ้าน กลิ่นญี่ปุ่นกระทบเข้ากับจมูกทันที  แต่ละชาติก็มีกลิ่นสถานที่เฉพาะที่ต่างกันไป กลิ่นญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นกลิ่นที่มีความรู้สึกแห้ง คล้ายกลิ่นไม้สน หรือไม้จันทน์  เป็นกลิ่นเฉพาะที่ได้กลิ่นนี้ทุกครั้งที่ไปเยือนบ้านคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะบ้านเก่าๆ  เมื่อถามเจ้าบ้าน ถึงที่มาของกลิ่น เจ้าบ้านออกจะแปลกใจอยู่ แล้วว่าคงจะเป็นกลิ่นเครื่องเรือนไม้กระมัง

ผมถูกพาไปสมทบกับแขกชุดก่อนหน้าที่จับกลุ่มชมของสะสมภายในบ้าน เมื่อคุณจอห์นแนะนำให้รู้จักกันครบคนแล้ว ก็นำชมของรักของสะสมไปทั่วบ้าน มีทั้งงานม้วนภาพเขียน ตู้ไม้ เครื่องเรือน ผ้าพื้นเมือง ชุดกิโมโน พรม จำนวนหลายชนิดที่มีที่มาจากเกาหลี จีน ญี่ปุ่น และชาติอื่นๆในเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นของสะสมในแบบขนบนิยมตามวัฒนธรรมของแต่ละชาติ  แขกที่มาล้วนให้ความสนใจสอบถามไล่เรียงรายละเอียดของของแต่ละชิ้น  มาทราบเอาภายหลังว่าทุกคนที่นั่นรู้จักกันเพราะเคยลงเรียนเรื่องเครื่องถ้วยเอเชียอาคเนย์ที่ คุณจอห์น บรรยายให้กลุ่มอาสาสมัครพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติทั้งสิ้น

ด้วยคุณจอห์นเคยอาศัยในเกาหลี และญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานก่อนหน้าที่จะย้ายมาอยู่ที่เมืองไทย กับทั้งยังศึกษาเรื่องพิธีชาของทั้งเกาหลี และญี่ปุ่นมายาวนาน  จึงมีของสะสมจากสองชาตินี้มากเป็นพิเศษ ที่เห็นได้ชัด คือ ม้วนภาพ และม้วนงานอักษร  ซึ่งเป็นที่อย่างดีในการศึกษางานดังกล่าวของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่ก็ดำรงลักษณะเฉพาะของตนเองไว้ จากลายเส้นที่แสดงออก

จานลงรัก ลายดอกฟูจิ จากโอกินาวา ของรักชิ้นหนึ่งจากมุม"Wisteria"
จานลงรัก ลายดอกฟูจิ จากโอกินาวา ของรักชิ้นหนึ่งจากมุม"Wisteria"





วันนี้เป็นวันที่ฝนตกตลอดมาแต่เช้า ท่าทางคุณจอห์นจะกังวลกับฝนมากเนื่องจากไม่ได้คาดว่าจะมีฝน และเตรียมให้เราได้ชมสวน ตามพิธีชาโดยปกติ ซึ่งแขกจะเข้ามายังบ้านเจ้าบ้านผ่านสวนชา และเริ่มซึบซับบรรยากาศตั้งแต่ทางเข้าสวน มายืนถวายเนตรดูเจ้าบ้าน หรือผู้ช่วยเอากระบวยตักสาดน้ำไปทั่วลานหน้าสวน  โดยแขกจะไม่ได้พบหน้าเจ้าบ้านจนกว่าจะเข้าสู่เรือนน้ำชา  แต่พิธีชาคราวนี้ต่างไป ด้วยคุณจอห์น ผ่อนแบบแผนตามขนบลง ให้แขกได้มีโอกาสซอกแซกศึกษาพิธีชาด้วยความอยากรู้อยากเห็นเต็มที่ ทั้งหน้าฉากหลังฉาก เจ้าบ้านจึงปรากฏตัวรับแขกแต่แรกเพื่ออธิบายเรื่องต่างๆ และบอกกล่าวด้วยว่า สมมติว่าเรายังไม่ได้เจอหน้ากัน 

เมื่อแขกมาถึงตามธรรมเนียมก็ต้องตั้งเครื่องดื่มต้อนรับแขก เจ้าบ้านเตรียมน้ำต้มใส่หม้อเหล็กตั้งบนเตาแก๊ส ถึงบทคุณโอ ธนวัฒน์ นักเรียนเก่าญี่ปุ่นที่ใช้เวลาเรียนชงชาที่ญี่ปุ่นอย่างจริงจังถึง ๑ ปีหลังจบการศึกษา วันนี้มาเป็นผู้ช่วยเจ้าบ้าน  ผู้ช่วยเจ้าบ้านจึงทำหน้าที่ตั้งเครื่องดื่มต้อนรับแขกที่เรียก osayu (お白湯)

หลังฉาก การเตรียมน้ำสำหรับทำเครื่องดื่มรับแขก  หม้อน้ำเหล็กสีดำ คือ หม้อที่จะใช้ต้มน้ำในพิธีชาต่อไป ส่วนหม้อสแตนเลสใบโตทางซ้าย คือ หม้อใส่อาหารกลางวันของพวกเรา
หลังฉาก การเตรียมน้ำสำหรับทำเครื่องดื่มรับแขก หม้อน้ำเหล็กสีดำ คือ หม้อที่จะใช้ต้มน้ำในพิธีชาต่อไป ส่วนหม้อสแตนเลสใบโตทางซ้าย คือ หม้อใส่อาหารกลางวันของพวกเรา

ตักผงชาบ๊วยสาหร่ายลงในถ้วย เตรียมเครื่องดื่มรับแขก

ตักผงชาบ๊วยสาหร่ายลงในถ้วย เตรียมเครื่องดื่มรับแขก




คุณโอ ตักน้ำร้อนจากหม้อต้มน้ำถ่ายใส่กาทองเหลืองใบเล็ก ยกถ้วยชาเปล่ามาบนถาดที่คลุมผ้าเรียบร้อย  เมื่อมาถึงห้องรับแขก ก็เลิกผ้าคลุมถ้วยพับเก็บเรียบร้อย แล้วตักผงสีขาวตุ่นๆจากกระปุกดินเผา ใส่ลงในถ้วย และรินน้ำร้อนทับลงไป   น้ำอุ่นรสเค็มปะแล่ม จำได้ว่าเป็นบ๊วยเค็ม ตามมาด้วยรสน้ำสกัดสาหร่ายจางๆ  ผมจำได้ทันทีว่าเป็น ume konbu cha  ด้วยมีประสบการณ์ที่รู้สึกผะอืดผะอมอย่างจำไม่ลืมกับรสน้ำสกัดสาหร่ายเค็มปะแล่มบ๊วยนี้  แต่คราวนี้ไม่เลวร้ายอย่างที่เคยผ่านมา จึงเป็นอันว่าได้เรียนรู้วิธีชงชาบ๊วยสาหร่ายนี้จากคุณโอว่า จงชงให้จางเข้าไว้ อย่าให้เข้มนักรสโอชะสาหร่ายจะกลายเป็นรสชวนคลื่นเหียน

เติมน้ำร้อนละลายผงชาบ๊วยสาหร่าย
เติมน้ำร้อนละลายผงชาบ๊วยสาหร่าย



osayu แต่เดิมเป็นเครื่องดื่มที่มีรสเค็มด้วยการเจือเกลือ เพื่อต้อนรับแขกที่ต้องเสียเหงื่อ เดินทางข้ามเขามาร่วมพิธีชา  แต่ปัจจุบันอาจจะเป็นน้ำร้อนเปล่าๆ แต่บังคับว่าจะต้องเป็นน้ำตัวเดียวกับที่จะใช้ชงชาในวันนั้นๆก็ได้  การต้อนรับแขกด้วย osayu จึงเป็นการนำเสนอน้ำที่จะใช้ให้แขกชิม คุณโอ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในญี่ปุ่นพิธีชาก็ยังให้ความสำคัญกับน้ำที่ใช้ โดยเลือกตักน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญ และเมื่อสำนักชาจัดพิธีที่เปิดสำหรับคนนอก ก็ยังมีคน ญี่ปุ่น โดยมากมักเป็นคนสูงอายุ ที่เดินทางมาร่วมพิธีเพียงเพื่อชิมน้ำเปล่าที่ว่าเท่านั้น โดยไม่ประสงค์เข้าร่วมพิธีชาก็มี

No comments:

Post a Comment