30 March 2013

My Cup of Tea

"My Cup of Tea"
                                   โดย Bloomingmind


ชาไม่เคยเป็นเครื่องดื่มถ้วยโปรดของเรา แต่เมื่อลองเปิดใจลิ้มลองรสชา ก็ให้ทึ่งว่า วิถีแห่งชาเป็นศาสตร์ เป็นศิลป์ และสะท้อนปรัชญาเซ็นและเต๋าที่สามารถนำมาเทียบใช้กับทุกเรื่องในชีวิต

ประสบการณ์นี้ทำให้เรานึกต่อไปด้วยว่า ทุกวิถีหากผู้ฝึกตนค้นเคี่ยวจนกระทั่งเข้าถึงแก่นแล้ว เราจะพบกัน ไม่ว่านักดาบ นักจัดดอกไม้ ชาวนา นักบวช และนักชงชาดื่มชา — “หลากวิถีสู่แก่นแท้เดียว”
...


(อ่านบทความฉบับเต็ม ได้ที่ http://bloomingmind.wordpress.com/2010/02/08/my-cup-of-tea ) 


29 March 2013

พิธีชาในสายฝน ame no chaji (ตอนที่ ๖)

บันทึก "พิธีชาในสายฝน ame no chaji" (ตอนที่ ๖) 
                                                                           โดย Tee Jongrak (จงรักษ์ กิตติวรการ)



พักคนชงชา
 หลังจากจบชาถ้วยที่สอง คุณโอ ชงชาไปสิบสองถ้วย รวมตีชาไปไม่ต่ำกว่าพันที คงพอกับโป๊ว อั่ง เสาะ (จอมดาบหิมะแดง) ที่หัดชักดาบพันครั้งทุกวัน  น้ำร้อนในหม้อใช้ไปเกือบหมด จึงพักกระบวย เติมน้ำร้อน พักคนชง ให้กินขนม และดื่มชา  ซึ่งโดยปกติแล้วคนชงในพิธีมักจะไม่ได้ดื่ม

พักกระบวย
กระบวยน้ำร้อนถูกพาดไว้กับปากหม้อน้ำ ด้ามกระบวนอยู่ที่ตำแหน่ง ๕ นาฬิกาของคนชง ตำแหน่งนี้ของกระบวยบอกว่างานน้ำชานี้เป็นงานน้ำชาไม่เป็นทางการ  หากเป็นงานพิธีอย่างทางการด้ามกระบวยจะถูกพักในตำแหน่งสี่นาฬิกา ตรงกับมุมขวาล่างของเตาพอดี

บรรยากาศในห้องของงานน้ำชาตามแบบไม่เป็นทางการถูกพักไปด้วย กลายเป็นงานตามสบายนอกรูปแบบ เป็นช่วงให้เจ้าบ้านได้สนทนากับพวกเราอย่างไม่มีพิธีรีตอง  คุณจอห์น เล่าที่มาที่ไปของชามแต่ละใบ เครื่องใช้ทีละชิ้น ตอบข้อซักถามต่างๆนาๆ  ข้าวของเครื่องใช้ในงานพิธีชาจะถูกเลือกให้เหมาะสมและสอดคล้องกับ theme ของงานที่เจ้าพิธีกำหนด  โดย theme ของงานจะค่อยๆถูกคลี่คลายออกในระหว่างดำเนินพิธี ผ่านข้าวของเครื่องใช้แต่ละชิ้นๆที่ถูกนำออกมาให้แขกเห็น  โดยแขกผู้ร่วมพิธีต้องเอามาตีความ theme ของงานเองราวกับการเล่นเกมส์ใบ้ความ

คุณจอห์น เลือกข้าวของเครื่องใช้ที่มีที่มาแตกต่างกัน ทั้งจากเกาหลี จีน อเมริกา ญี่ปุ่น ทั้งหมดเป็นของที่ได้มาจากเหล่าสหายของคุณจอห์นทั้งสิ้น  ตั้งแต่ม้วนอักษรเขียนคำตกหล่นที่เขียนโดยเพื่อนนักบวชชาวเกาหลี ตลับเครื่องหอมพระโพธิธรรมทำโดยเพื่อนชาวเยอรมัน ช้อนตักชาโดยสหายชาวอเมริกัน ข้าวแต่ละชิ้นไม่ได้เป็นของซื้อขายที่มีราคาแพง หากประจุความทรงจำและมิตรภาพที่ทำให้ของชิ้นนั้นๆมีความสำคัญกับคุณจอห์น     

“พุทธอยู่ที่ไหน” ในม้วนอักษรซึ่งปกติเมื่อแสดงดอกไม้ ม้วนอักษรจะถูกเก็บออกไป แต่ม้วนอักษรกลับถูกม้วนอย่างเรียบร้อยแล้วตั้งไว้ให้เห็นอย่างจงใจ 
ดอกไม้ดอกเดียวในแจกัน 
พระโพธิธรรมซึ่งเป็นผู้นำพุทธศาสนานิกายเซนจากอินเดียมาเผยแพร่ในจีน
ดอกบัวที่ฉลุเป็นลายของชั้นวางของ 
“พุทธะอยู่ที่ไหน”  เจ้าภาพสำทับ พร้อมทั้งเล่าเรื่องพระมหากัสสปที่สามารถตีปริศนาธรรมของพระพุทธเจ้าได้ เมื่อครั้นชุมนุมเหล่าสาวก แล้วพระพุทธเจ้าชูดอกไม้ดอกเดียวขึ้นในที่สมาคม   ส่วนพวกเราก็ต้องตีปริศนาของคุณจอห์นกันต่อ

ขนม
ขนม
และก็ขนม
ท่านเจ้าบ้านคะยั้นคะยอให้พวกเราดื่มชากันเพิ่ม เลือกชากันตามใจ  พร้อมลำเลียงขนมออกมาอีกสามถาดจากความเอื้อเฟื้อของแขกรับเชิญทั้งหลาย  ถึงตอนนี้ชักจะเริ่มมีอาการเมาขนม ลิ้นเริ่มล้าไม่รู้รส หลายคนเริ่มขอน้ำเปล่า 

ภาพสวนในสายฝน มองผ่านประตูในห้องชา
บรรยากาศที่เป็นกันเอง ผ่อนคลาย เช่นนี้ทำให้การสนทนารื่นลิ้นและออกรส  คุณจอห์นเองก็ชื่นชอบความผ่อนคลายเช่นนี้ จึงได้โอกาสยิงคำถามคาใจมานานว่า งานเลี้ยงน้ำชาที่พิธีจัด กำหนดทุกรายละเอียดแบบญี่ปุ่น มันมีความเพลิดเพลินจริงหรือ  ได้คำตอบมาว่า สำหรับคนที่ฝึกฝนมาทางนี้ แต่ละคนจะรู้จังหวะกัน ในการดำเนินพิธี จึงมีการส่งการรับกันสนุกสนานราวการเริงระบำเข้าจังหวะ

แม้ว่าคนญี่ปุ่นจะได้ชื่อว่าเป็นคนตรงต่อเวลา แต่งานเลี้ยงน้ำชาคราวนี้กลับล่วงเวลาไปสองชั่วโมงกว่า ท่านเจ้าบ้านก็ยังสนุกกับการสนทนา อยากรั้งให้แขกอยู่กันต่อไป แม้จะดูเหนื่อยล้าจากการเตรียมงานโดยไม่ได้นอนเลยทั้งคืนก็ตาม  หากตามใจท่านเจ้าบ้านพวกเราคงต้องอยู่ค้างกันโต้รุ่งเป็นแน่แท้ 

งานเลี้ยงน้ำชาญี่ปุ่นเป็นงานที่มีรายละเอียดมาก ใช้เวลาและกำลังในการเตรียมการมหาศาล การจะจัดงานให้มีความสมบูรณ์ แม้ในญี่ปุ่นเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่การจัดนอกญี่ปุ่นยิ่งยากกว่าหลายขุม เพราะต้องอาศัยวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่ทำขึ้นเฉพาะมากมาย  สำนักชากับสกุลช่างต่างๆที่ผลิตข้าวของเครื่องใช้สำหรับพิธีชาจึงต้องพึ่งซึ่งกันและกัน  ที่เห็นได้ชัดอาจจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสำนักชาและผู้ผลิตชา เช่น koyama-en (http://www.marukyu-koyamaen.co.jp/english/index.html) กับสำนัก urasenke ซึ่งเป็นสำนักชาที่ใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ โดยสำนักชานี้จะเลือกใช้ชาของ koyama-en เป็นหลัก

สวนหลังฝน
อำลาท่านเจ้าบ้าน ณ ริมรั้ว
การศึกษาในสำนักชาของญี่ปุ่นจึงไม่ใช่การเรียนรู้เฉพาะเรื่องชา หากต้องศึกษางานศิลปะ งานช่างแขนงต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะสามารถเลือกใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และการเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม รู้จักแหวกไปจากกฎระเบียบ แต่แหวกเป็นอย่างได้สาระ ไม่ใช่การแหวกเพียงให้ได้ชื่อว่าเป็นขบถต่อกฎระเบียบ การศึกษาพวกนี้ที่ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่เป็นการฝึกฝนจนเป็นวิถีชีวิตเป็นเนื้อเป็นตัวของคนเรียนนี่แหละที่ทำให้การศึกษาในสำนักชา เป็นการศึกษาที่ไม่ใช่เพียงเรื่องชา และต้องใช้เวลาหลายๆปี 

ฝนเพิ่งหยุดตก ท่านเจ้าบ้านพาทุกคนออกมาชมสวนเป็นการส่งท้าย พวกเราผ่านรั้วดอกมอร์นิ่งกลอรี่ที่รักษาเวลาไม่บานรอให้ชม  ท่านเจ้าบ้านออกมาส่งที่หน้าบ้าน และยังคงทิ้งคำถามไว้ให้คิด คือ สิ่งต่างๆที่ถูกปรุงขึ้นในพิธีชานี้นำไปสู่อะไร  การเสพย์ชา ความบันเทิงเริงรมย์อย่างประณีต การปฏิบัติธรรมเพื่อการรู้แจ้ง การเรียนรู้ธรรมชาติ หรือเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกชนชั้น

พิธีชาในสายฝน ame no chaji (ตอนที่ ๕)

บันทึก "พิธีชาในสายฝน ame no chaji" (ตอนที่ ๕) 
                                                                                     โดย Tee Jongrak (จงรักษ์ กิตติวรการ)

เมื่อคุณโอพร้อมชงชา  ท่านเจ้าบ้านย้ายมานั่งตำแหน่งแขกหมายเลขหนึ่งเพื่อความสะดวกแก่การสาธิตและให้คำบรรยาย  ตำแหน่งแขกหมายเลขหนึ่ง เป็นตำแหน่งประธาน มีความสำคัญสูงสุดในงานเลี้ยงน้ำชา ส่วนแขกคนอื่นๆ ก็นั่งไล่ลำดับกันไปแทบไม่ได้มีความสำคัญแตกต่างกันนัก      

ขนมรูปลูกพลับ
จานเชิงลงรักใส่ขนมถูกเวียนส่งมาจากแขกในลำดับศักดิ์ที่สูงกว่า  ลูกพลับที่เป็นรูปของขนม  ใบไผ่สีทองที่เป็นลายบนจาน กระซิบบอกกาลแห่งฤดูใบไม้ร่วง กระดาษพับครึ่งถูกชักจากซองผ้าไหม วางลงบนพื้นตรงหน้า รองรับขนมที่ถูกตะเกียบคีบจากจาน  ปลายตะเกียบถูกรูดกับมุมซ้ายบนของกระดาษที่พับเข้ามาเพื่อชำระก่อนจะคืนลงในถาด  และเวียนต่อให้แขกในลำดับศักดิ์ที่ต่ำกว่า

จานเชิง (จานที่มีฐานยกสูง คล้ายพาน) โดยปกติมักจะสงวนไว้ใช้กับผู้สูงศักดิ์ในสังคมศักดินาเท่านั้น  สำหรับสามัญชนจะใช้ภาชนะใส่ขนมในงานเลี้ยงน้ำชาที่เป็นจานธรรมดาที่ไม่ยกสูง  จานใบนี้เป็นของเก่า คุณจอห์น ไปพบที่อเมริกาในสภาพแตกหัก จึงได้ซื้อนำไปซ่อมที่ญี่ปุ่น ร่องรอยความเสียหายบนจานถูกซ่อนอย่างแนบเนียนภายใต้กระดาษรองขนมสีขาว



 
จากความพร้อม สู่ชาหนึ่งชาม
กลางความเงียบสงบ  กระบวยไม้ไผ่ ถูกกระแทกลงบนฐานรองรับดินเผา   คันกระบวยถูกทิ้งให้ตกกระทบเสื่อ   ด้ามแปรงตีชาตกเคาะถ้วยชา  เกิดเป็นเสียงแหวกทำลายความเงียบเป็นระยะ พร้อมไปกับการทำความสะอาดของใช้ทีละชิ้น  สติคนในพิธีถูกสะกิดเป็นจังหวะ

ความนุ่ม และความเนียน เป็นสัมผัสจากฟันขณะเคี้ยวไปบนส่วนแป้ง ที่เป็นชั้นนอกของขนม มีความชื้นเล็กน้อยให้สัมผัสที่ชุ่ม ไส้ถั่วแดงบดละเอียด ให้ความรู้สึกกลม กลืนเป็นเนื้อเดียวกับส่วนเปลือก ขนมลูกโตปริมาณเท่าไข่ไก่ใบเล็กๆ ส่งรสหวานกลมกล่อม กระจายเต็มปาก แม้กลืนไปแล้วยังทิ้งความหวานจับลิ้นพร้อมกับสัมผัสของถั่วกวนที่ตกค้าง

น้ำค้างแห่งดวงดาว (星の露hoshi no tsuyu) เป็นชื่อชามัตจะ จากหมู่บ้านทุ่งดวงดาว ( hoshino) ปริมาณหนึ่งช้อนกึ่งถูกตักลงในถ้วย  น้ำเดือดจัดจนเกินพอดี  น้ำเย็นจึงถูกเทจากกระบวยลงในหม้อต้มน้ำในปริมาณที่ถูกกะด้วยประสบการณ์ เพื่อลดความร้อนให้ได้อุณหภูมิที่เหมาะแก่น้ำค้างแห่งดวงดาว

แปรงไม้ไผ่ตีชาถูกจุ่มลงในน้ำร้อนผสมผงชา แล้วตีอย่างรวดเร็วราวหนึ่งร้อยทีต่อชาหนึ่งถ้วย จนผงชาผสมรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกับน้ำร้อน เกิดฟองนุ่มละเอียดลอยเหนือผิวน้ำชา  ชาถูกเตรียมทีละถ้วย ให้แขกทีละคนตามลำดับศักดิ์  แต่ถือว่าชาที่เตรียมทั้งหมดเตรียมให้แขกหมายเลขหนึ่งเพียงผู้เดียว คนที่จะดื่มจึงต้องขอชาจากแขกหมายเลขหนึ่ง  และด้วยแต่ละขณะมีคนดื่มชาได้เพียงคนเดียว  คนที่จะได้ดื่มจึงแสดงมารยาทที่ดีขออนุญาตดื่มก่อนจากแขกศักดิ์ถัดไปที่นั่งรอชาของตนตาปริบๆ  กับทั้งขอบคุณผู้ชงชาที่เตรียมชาให้ด้วยความตั้งใจอย่างเปี่ยมล้น

 
ชาค้างก้นถ้วย
ชาฟองละเอียดในถ้วยถูกส่งมาให้ผู้ดื่มในมุมมองที่งามที่สุดของถ้วย ที่เรียกกันว่า ด้านหน้าถ้วย  ส่วนการดื่มจะไม่ดื่มจากด้านหน้าถ้วย เพราะอาจจะทำให้เลอะด้านที่งามนี้ จึงดื่มจากด้านตรงข้ามที่เป็นหลังถ้วย  ผู้ดื่มเมื่อรับถ้วยมาจึงต้องหมุนถ้วยให้ด้านหลังถ้วยมาตรงกับปาก  ชาในถ้วยมีปริมาณเพียงสักสามจิบ เมื่อยกถ้วยชาขึ้นจรดริมฝีปาก  จมูกยื่นเข้าไปในถ้วยที่โอบอุ้มกลิ่นไอของชา ชาที่ดีจะส่งกลิ่นหอมกลุ่มให้ได้ดมในขณะนี้  เมื่อดื่มชาแล้ว ชาจะทิ้งคราบเป็นทางซึ่งแลไม่งาม  ผู้ดื่มจึงใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้จะจับไปบนปากขอบถ้วยแล้วรูดผ่านจุดที่ปากสัมผัสถ้วย เพื่อลบคราบชา ไม่ให้เหลือเป็นรอยของริมฝีปากที่จับขอบถ้วย   น้ำชาที่เหลือค้างเล็กน้อยจะไหลกลับไปกองที่ก้นชาม   ช่างปั้นญี่ปุ่นจึงมักทำก้นชามเป็นร่องรูปน้ำวน (เรียก naruto) เพื่อรองรับน้ำชาสีเขียวที่เหลือนี้ ให้เกิดเป็นลายก้นหอยที่ดูงามกว่า ปล่อยให้ชามมีก้นเรียบๆเปล่าๆ   ชามชาแต่ละใบเป็นงานศิลปะที่ถูกทำด้วยความเอาใจใส่อย่างมากพอกับกระบวนพิธีในการเตรียมการอื่นๆ  เมื่อดื่มชาเสร็จจึงเป็นเวลาให้พินิจความงามของถ้วย ก่อนจะส่งถ้วยคืนให้เจ้าพิธี

ปกติ ถ้าเป็นงานเลี้ยงน้ำชาชนิดจางที่เรียก usui-cha ก็จบงานเพียงการเลี้ยงน้ำชาชนิดเดียว  แต่ท่านเจ้าบ้านผู้อารีย์อุตส่าห์สรรมัตจะมาเลี้ยงพวกเราอีกตัว รวมเป็นสองตัว   น้ำค้างแห่งดวงดาว  เป็นชาที่ คุณจอห์น เลือกเอง  เป็นชาที่ผลิตจากแหล่งชา yame (แปลตามพยัญชนะว่า “แปดนาง”)  ถิ่นขึ้นชื่อสำหรับชา gyokuro และมัตจะของจังหวัด fukuoka  ดูเหมือนจะเป็นแหล่งชาที่โปรดปรานอันหนึ่งของท่านเจ้าบ้าน จากการสนทนาเรื่องชา yame  แต่หนหลัง  คราวนี้จึงเป็นโอกาสที่ คุณจอห์น เอาชาจากแหล่งนี้ออกมาให้พวกเราได้ชิม  น้ำค้างแห่งดวงดาว บางเบา ใส สัมผัสนุ่มนวล

ชาตัวที่สองชื่อ kitano no mukashi (บุพสมัยแห่ง คิตาโนะ)  เป็นมัตจะ จากแหล่งมัตจะที่เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น คือ uji   เมือง uji เป็นเมืองเก่าแก่ในเกียวโต อายุเกินพันสองร้อยปีแล้ว  มีประวัติศาสตร์การปลูกชาผลิตชากันต่อเนื่องยาวนาน  อิปโปโด (http://www.ippodo-tea.co.jp/en/about/index.html) ผู้ผลิตชาตัวนี้ ดำเนินกิจการการทำชามากว่าสามร้อยปีแล้ว  ชาประวัติยาวนานเป็นชาตัวโปรดของ คุณโอ ด้วยความใหม่แกะกระปุก จึงมีความหอมความสดอยู่มาก ชาตัวนี้รสเข้มแน่น อวบอิ่ม ลื่นมันราวเนยนม นุ่มเหมือนกำมะหยี่ 

ชามัตจะที่แกะผนึกแล้ว จะต้องเก็บแช่แข็งไว้เพื่อชะลอความเสื่อมของกลิ่นและรส  และก่อนจะนำมาใช้ในงานเลี้ยงน้ำชา ก็จะต้องเอามาแร่งผ่านตะแกรงเล็กๆเพื่อให้ผงชากระจายตัว ไม่เกาะเป็นก้อนขณะเติมน้ำร้อน   แต่หากไม่แร่งก็ชงได้โดยแบ่งเติมน้ำร้อนเล็กน้อยก่อน แล้วตีให้เข้ากับผงชาจนเปียกทั่ว ก่อนจะเติมน้ำร้อนที่เหลือแล้วตีจนขึ้นฟอง

มีข้อให้สังเกตเล็กๆ คือ มัตจะที่ให้ชื่อลงท้ายด้วย …mukashi มักจะเป็นมัตจะที่ทำขึ้นเพื่อใช้เตรียมเป็นชาอย่างเข้ม  ซึ่งต้องใช้มัตจะที่มีคุณภาพสูงกว่ามัตจะที่ใช้เตรียมชาอย่างจาง  แต่มัตจะสำหรับเตรียมชาอย่างเข้มสามารถเอามาเตรียมชาอย่างจางได้  เช่น กรณีที่ คุณโอเตรียม kitano no mukashi เป็นชาชนิดจางให้พวกเรานี้

ขนมรูปดอกเบญจมาศ
บุพสมัยแห่ง คิตาโนะ ถูกประกบเข้ากับขนมญี่ปุ่น ทรงดอกเบญจมาศ ระเรื่อด้วยสีชมพูจางๆ  บนจานเชิงลงชาดลายสีทองและสีเงินเป็นดอกไม้ประจำฤดูใบไม้ร่วงชนิดเดียวกับขนม  ขนมนี้แม้จะมีรูปลักษณ์ภายนอกที่แตกต่างกับขนมชนิดแรก แต่เป็นถั่วแดงกวนห่อด้วยแป้งเหมือนกัน  จะต่างกันออกไปบ้างก็ที่ชนิดหลังใช้ถั่วแดงบดหยาบๆ ได้เคี้ยวถั่วแดงเป็นเม็ดๆทั้งเปลือก เมื่อเคี้ยวๆไปกลิ่นใบชิโซะสีม่วงจางๆและความเค็มๆเล็กน้อยจึงค่อยๆเผยตัวออกมา ก่อนที่จะถูกชะด้วยคลื่นอุ่นๆสีเขียว เข้มข้น ทิ้งกลิ่นค้างไว้ในลมหายใจ

พัก

พิธีชาในสายฝน ame no chaji (ตอนที่ ๔)

บันทึก "พิธีชาในสายฝน ame no chaji" ตอนที่ ๔ 
                                                       โดย Tee Jongrak (จงรักษ์ กิตติวรการ)



ซุปเห็ด ต้มกิมจิ
ต้นหอมกิมจิ ปลาหมึกแห้งกิมจิ ใบปอกิมจิ ผักกาดขาวกิมจิ หอยดอง ปลาทอดคลุกซี่อิ้ว กระเทียมดอง เมนไทโกะ(ไข่ปลาค๊อดดองเผ็ด) ปลาหมึกกิมจิ
เมื่อเรียงถ่านเสร็จ เป็นเวลาที่ต้องรอให้ถ่านติดไฟ และน้ำในหม้อเดือด  ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงมื้ออาหารกลางวัน  คุณจอห์น และคนอื่นๆ ช่วยกันกุลีกุจอ จัดโน้น เตรียมนี้ ตั้งโต๊ะ เตรียมเครื่องดื่ม  อาหารกลางวันเป็นอาหารเกาหลีแบบง่ายๆ  มีสารพัดกิมจิที่เป็นเครื่องแกล้มถูกจัดลงจานอย่างรวดเร็ว  กับมีซุปที่ต้มกิมจิผักกาดขาว กับสารพัดเห็ด แต้าหู้และไส้กรอก เจ้าบ้านต้มซุปหม้อใหญ่ แต่ละคนได้ซุปชามโต โตพอกับราเมนญี่ปุ่น

อาหารที่เลี้ยงกันในพิธีน้ำชา หากย้อนกลับไปในยุคต้นๆ ที่ชาเข้ามาในญี่ปุ่นพร้อมกับพุทธศาสนา  ชาจึงอยู่กับพระ  ด้วยชาป่นมัตจะเป็นชาที่เข้มข้น หากดื่มตอนท้องว่าง จะทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน มวนท้องได้ง่าย  เพื่อให้แขกรับชาได้โดยไม่ทุกข์ พระจะจัดอาหารให้แขกกินรองท้องก่อนจะเลี้ยงน้ำชา  อาหารที่ยกมาเลี้ยงเป็นอาหาร ตามแบบพระมีพระกิน  จึงเเรียบง่ายสมถะ ได้แก่ ข้าว ซุป และผักดอง   ความเลอเลิศวิลิศของอาหารในงานเลี้ยงน้ำชาคงคืบคลานเข้ามาภายหลัง เมื่องานเลี้ยงน้ำชาไม่ใช่งานเลี้ยงน้ำชา

มื้อกลางวันของพวกเราออกจะเรียบง่าย กลับไปสู่ ข้าวถ้วย ซุปชาม และมีพวกผักดองประกอบ  เพียงแต่ซุปของพวกเราชามโต และมีเครื่องออกจะมาก ตามความพอมีอันตจะกินของเจ้าบ้านคฤหัสถ์  จะมีพิเศษขึ้น คือ ไวน์ขาวจากบอร์โดซ์  ชนิดดราย รสอมเปรี้ยว แต้มกลิ่นเลมอนแผ่วๆ แช่น้ำแข็งพอเย็นๆ เข้ากันกับอาหารมื้อเปรี้ยวๆได้ดี แถมมีกลิ่นวนิลา เนยนมเล็กน้อยไม่ให้ออกเปรี้ยวอย่างเดียวจนหน้าเบื่อ

เบื้องหลังงาน เจ้าภาพเตรียมขนม
พวกเรากินอาหารกลางวันกันอย่างสบายๆไม่เร่งรีบ ถ้าเทียบกับเวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเศษก็นับว่าฉับไว  ที่เวลาเพียงเท่านี้สามารถให้เรารู้รสอาหารได้โดยปราศจากความรีบร้อน  พอจัดการอาหารกลางวันเรียบร้อย ท่านเจ้าบ้านแนะให้พวกเราเข้าห้องน้ำห้องท่า แล้วต้อนพวกเราเข้าห้องน้ำชา  ในขณะที่ตัวเองปลีกไปเตรียมขนม ด้วยความช่วยเหลือของคุณโอ 

ดอกไม้ประดับห้องชา
ไม้แกะรูปนกโผเกาะกิ่งบ๊วย ประดับบนคาน ที่ซ่อนตัวอย่างมิดชิดในเงามืด
ภาพเขียนบนฉากเกาหลี กวนอิมผู้ทรงมหากรุณา
ภาพเขียนบนฉากเกาหลี "เซน"
 
กลิ่นไม้จันทน์ ถูกกระจายไปในห้อง อย่างจางๆ ด้วยความละมุนละไม จากเครื่องหอมในเตาที่ถูกเผา ให้ความรู้สึกแห้ง เย็น สะอาด   บรรยากาศในห้องกลับเป็นสว่างด้วยเจ้าบ้านเลิกมู่ลี่กันแสงขึ้นทั้งหมด ฝนเริ่มปรอย ฟ้าเริ่มใส

บริเวณใกล้ช่องแสงในห้องน้ำชาที่เมื่อเช้าแขวนม้วนอักษร กลับปรากฏดอกไม้สีขาวหนึ่งดอกเสียบในแจกันไม้ที่แขวนแนบเสา   ม้วนอักษรที่โดดเด่นเมื่อเช้าเมื่อถูกปลดลง ม้วนเก็บอย่างเรียบร้อย และวางลงตรงพื้น ณ ที่นั้น  ผิดไปจากการเลี้ยงน้ำชาปกติที่เจ้าบ้านจะเก็บม้วนอักษรออกจากห้องเลย 


แสงสว่างในห้อง เผยให้เห็นมุมอื่นๆในห้องที่ถูกซ่อนในเงามืดเมื่อเช้า  ทั้งลวดลายแกะสลักบนไม้แผ่นโตสีเข้ม ที่ซ่อนตัวอย่างมิดชิด  หรือภาพเขียนบนฉากที่เป็นสีเทาตุ่นๆในเงามืด กลับเป็นสีสดใสด้วยปริมาณแสงที่เติมเข้ามา

เสียงลมผ่านใบสน
เมื่อกลับไปที่หม้อเหล็กต้มน้ำบนเตาที่เติมถ่านเมื่อเช้า หมอบลงข้างๆ แล้วเงี่ยหูเข้าไปใกล้ๆ  น้ำที่กำลังเดือดพล่าน  ถ่านไม้ที่อยู่ใต้นั้นคงติดไฟแดงคุโชน ใบสนเรียวยาวราวเข็มเล่มโตจำนวนนับล้านที่ขึ้นอยู่เต็มต้นสน กำลังขยับสีกันด้วยแรงของลม อยู่ในหม้อต้มน้ำที่ฝาหม้อเปิดเผยอไว้  เสียงนี้เอง คือ เสียงลมผ่านใบสน ที่ถูกกล่าวถึงในบทกวีทั้งจีน และญี่ปุ่น


พิธีชาในสายฝน ame no chaji (ตอนที่ ๓)

บันทึก "พิธีชาในสายฝน ame no chaji" (ตอนที่ ๓) 
                                                             โดย Tee Jongrak (จงรักษ์ กิตติวรการ)



ส่องไฟ ชมหม้อต้มน้ำ
กระปุกผงชามัตจะ

จากจุดแรกที่ชมม้วนอักษร เทียนบนเชิงสามขาถูกยกไปทีละจุด ชมเครื่องใช้ทุกชิ้นที่ถูกเลือกเข้ามาประกอบในพิธีชา ได้แก่ หม้อเหล็กใช้ต้มน้ำ กระปุกบรรจุผงชามัจฉะ ชั้นไม้วางของ ของทุกชิ้นถูกเลือกมาใช้อย่างจงใจให้มีความสัมพันธ์กัน แต่ละชิ้นจึงเหมือนจิ๊กซอว์คำบอกใบ้ปริศนาให้ผู้ร่วมพิธีต้องใช้ความสังเกต และความรู้ในการไขปริศนานั้น

อุปกรณ์ในการเตียมถ่าน จากซ้าย กระบุงใส่ถ่าน ขนนกปัดฝุ่น และตะเกียบคีบถ่าน
คุณจอห์น นำกระบุงสานบรรจุสิ่งจำเป็นสำหรับ “กรรมวิธีเติมถ่าน” เข้ามาในห้อง แล้วนั่งลงหน้าเตา ห่วงโลหะกลมสองห่วง ถูกเกี่ยวเข้าไปในหูของหม้อเหล็กต้มน้ำที่อยู่บนเตา  ใช้ยกหม้อเหล็กที่ร้อนออกจากเตา วางลงบนกระดาษขาวปึกหนึ่งที่พับทบครึ่งได้ความหนาราวครึ่งนิ้ว ซึ่งถูกชักออกมาจากในเสื้อของคุณจอห์นในชั่วครู่ก่อน เมื่อมองลงไปในเตาที่เจาะลึกลงไปในพื้น กรุผนังรอบด้วยแผ่นสเตนเลสเป็นมันวาว  พื้นเตามีขาหยั่งสามขา ที่ใช้รองรับหม้อเหล็ก กลางวงขาหยั่งมีถ่านคุแดง ท่อนเล็กๆ ๓ ท่อน  คุณจอห์น ดำเนินกรรมวิธีไปพลางเล่าประกอบไปพลาง  หาไม่พวกเราคงไม่เข้าใจอะไรเลย

ขนนกเดี่ยว ขนาดใหญ่ต่อด้าม ถูกใช้เป็นอุปกรณ์ปัดฝุ่นทำความสะอาดเตา ตะเกียบเหล็กความยาวเกือบศอกใช้คีบจับถ่านจากในกระบุง  วางลงในเตา พอวางถ่านไปได้ก้อนหนึ่ง  คุณจอห์นชะงักไปชั่วครู่ แล้วพูดว่า ตนลืมอะไรไปบางอย่าง  สิ่งที่คุณจอห์นลืม คือ เติมขี้เถ้าเปียก

พิธีเตรียมถ่าน ที่อยู่ในมือเจ้าบ้าน คือ ชามบรรจุขี้เถ้าเปียก
ขี้เถ้าเปียกเป็นขี้เถ้าจากเตาที่ คุณจอห์น เตรียมไว้ล่วงหน้าโดยเอามาคลุกผสมกับน้ำชา ที่เรียก houji cha   คุณจอห์น ใช้พลั่วอันเล็ก ตักขี้เถ้าเปียกจากชามทองเหลือง ไล่ใส่ลงไปบริเวณมุมเตาทั้งสี่มุมจนครบ แล้วจึงกลับมาเรียงถ่านต่อ

ภายในกระบุงถ่าน บรรจุถ่านไม้หน้าตัดลายดอกเบญจมาศ ถ่านต้นหม่อนเคลือบปูนขาว และห่วงเหล็กใช้เกี่ยวกับหูหม้อต้มน้ำ เพื่อยกหม้อต้มน้ำ
ถ่านที่ใช้ในพิธีชา เป็นถ่านไม้เฉพาะ เผาจากไม้พวกโอ๊ค ชื่อ kunugi (ก่อขี้กวาง) หน้าตัดของถ่านแตกเป็นลายเส้นตามแนวรัศมี เรียกกันว่าเป็นลายดอกเบญจมาศ ถ่านชนิดนี้ให้ความร้อนสูง ติดไฟเผาไหม้ได้นาน  เพื่อให้ไม่เกิดควันขณะใช้ คุณจอห์น ต้องเอาถ่านไปล้างน้ำ และตากให้แห้งก่อน  กรรมวิธีเกี่ยวกับถ่านเป็นงานที่มีรายละเอียดมาก แสดงให้แขกเห็นถึงความพิถีพิถันเอาใจใส่ในการเตรียมงาน  โดยสามารถโยงกลับไปถึง คัมภีร์ชา “ฉาจิง” ตำราเกี่ยวกับชาเล่มเก่าแก่ที่สุดนี้แต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง โดย ลู่อวี่  ซึ่งมีการกำหนดรายละเอียดมากยิ่งกว่าที่ญี่ปุ่นทำเสียอีก จะเท็จจริงอย่างไรนั้นต้องลองตรวจสอบอีกที

เตาขาหยั่งสามขา ที่เห็นสีน้ำตาลอ่อน คือ ขี้เถ้าแห้งที่อยู่ภายใน สีเข้มที่มุม คือ ขี้เถ้าเปียกที่ถูกเติมลงไป
ใช้ตะเกียบคีบถ่านเติมลงในเตา ตามการจัดเรียงถ่านที่ถูกกำหนดไว้เป็นแบบแผน
ถ่านที่เรียงเสร็จเรียบร้อย
ถ่านแต่ละก้อนที่นำมาเติมลงในเตามีขนาด และรูปร่างความแตกต่างกันไปตามกำหนดของแต่ละสำนัก  ผู้จัดพิธีจึงต้องตัดถ่านให้ได้ตามนั้น  แต่สามารถหาซื้อชนิดที่ตัดไว้สำเร็จรูป จัดเป็นชุดตามกำหนดของแต่ละสำนักได้ที่ร้านขายถ่านสำหรับพิธีชาโดยเฉพาะ  ลองดูในเวปที่ขายถ่านที่ว่า จะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น

นอกจากจะกำหนดรูปร่าง และขนาดถ่านแล้ว  สำนักชา ยังกำหนดรูปแบบและลำดับการเรียงถ่านอีกด้วย  ถ่านถูกเรียงให้ติดไฟได้ทั่วทุกก้อน และจัดให้มีช่องว่างให้ลมเข้าได้  ถ่านก้อนสุดท้ายที่ถูกวางลงในเตา คือ ถ่านที่มีรูปร่างคล้ายกิ่งไม้มีง่ายแยก ฉาบภายนอกด้วยปูนาวจนมีสีขาวทั้งแท่ง  ถ่านชนิดนี้ทำมาจากไม้ต้นหม่อน มีสมบัติติดไฟได้เร็วเป็นต้นเพลิงต่อให้ถ่านก้อนอื่นๆ

ผะอบเครื่องหอม รูปหัวพระโพธิธรรม โดยศิลปินชาวเยอรมัน
ก้อนลูกกลอนเครื่องหอม ที่บรรจุภายในผะอบ
หลังเรียงถ่านในเตา คุณจอห์น หยิบผะอบเครื่องหอม ภายในบรรจุก้อนสีดำๆ คล้ายลูกกลอน ๓ ก้อน  ใช้ตะเกียบถ่านคีบก้อนเครื่องหอมวางลงไปในเตา ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งใกล้ไฟ อีกก้อนวางห่างออกมา  ก้อนที่อยู่ใกล้ไฟจะถูกเผาก่อนอีกก้อน เพื่อให้ส่งกลิ่นหอมต่อเนื่องได้ยาวนาน เครื่องหอมที่ใช้กันมีอยู่ ๒ แบบ คือ ที่ปั้นเป็นลูกกลอน กับชนิดที่มีลักษณะเป็นเศษไม้    การเลือกใช้กลิ่นใช่ว่าจะเลือกอย่างไรก็ได้ หากแต่เลือกตามบรรยากาศที่ต้องการสร้าง เลือกให้เหมาะกับฤดูและกาล จึงจะสามารถสร้างห้วงของกาลนั้นๆขึ้นในห้องพิธีชาได้สำเร็จ 

เมื่อวางเครื่องหอมแล้ว ก็ยกหม้อเหล็กต้มน้ำกลับวางลงในเตา  ข้าวของเครื่องใช้แต่ละชิ้น แม้แต่ชิ้นเล็กชิ้นน้อย กระบุงตระกร้าสาน เจ้าบ้านสามารถจดจำเล่าเรื่องที่มาที่ไปราวกับมัคคุเทศน์นำชมของในพิพิธภัณฑ์ทีเดียว

ที่น่าสังเกต คือ ช่างแต่ละคนมักทำสัญลักษณ์ ลวดลายเฉพาะของตนซ่อนไว้บนชิ้นงาน เช่นช่างปั้นถ้วยในเกียวโตคนหนึ่ง ก็มักทำรูปเต่าไว้ในงานทุกชิ้นสังเกตได้ง่ายบ้างยากบ้าง ที่ผ่านมาไม่เคยเอะใจว่าการทำสัญลักษณ์นี้เป็นธรรมเนียมนิยมของช่างญี่ปุ่น คิดแต่ว่าคงเป็นลักษณะเฉพาะตัวช่างคนนั้นที่ช่างคิดช่างทำ  จนวันนี้ คุณจอห์น ชี้ให้ดูฉากที่มีลายมือสวยงาม แต่ขอบของฉากเป็นผ้าทอลาย หงส์ (ภาษาญี่ปุ่นว่า โฮ) และเมฆ (ภาษาญี่ปุ่นว่า อุน)  ถ้าไม่ได้รู้ที่มาที่ไปก็คงคิดแต่ว่าเป็นเพียงลวยลาดประดับฉาก ไม่ได้มีความหมายแฝงอะไรพิเศษ แต่แท้จริงแล้วเป็นสัญลักษณ์ของช่างไม้ทำฉากนี้ที่ชื่อ โฮอุน

ข้อความบนฉาก สะท้อนความคิดลัทธิชาญี่ปุ่น ที่ให้ความสำคัญอย่างสูงต่องานน้ำชาที่เตรียมขึ้นรับแขก  การเตรียมการทุกอย่างต้องทำอย่างดีที่สุด โดยถือว่าโอกาสที่รับแขกมีโอกาสเพียงหนึ่งเดียวที่ไม่อาจเกิดได้อีก 

              โอกาสเพียงหนึ่ง พบเพียงครั้ง

              ฟังเสียงลมผ่านใบสน
              สหายผู้เวียนว่ายชั่วโกฎิกัปป์

                        การพานพบในครานี้
                                                                                 หามีอีกได้ไม่

一期一合 松風の声聴え 千代にわたれ友 この世の出逢い 又となき日を only moment, only gather listen to the pine wind friend who acrosses the eternal our meeting in this world shall be never again calligraphy by the abbot of Daitoku Ji, Kyoto.

พิธีชาในสายฝน ame no chaji (ตอนที่ ๒)

บันทึก "พิธีชาในสายฝน ame no chaji" (ตอนที่ ๒) 
                                                                           โดย Tee Jongrak (จงรักษ์ กิตติวรการ)


เวลาล่วงเลยกำหนดการเดิมมาพอควร เพราะรอท่าให้ฝนหยุด เพื่อออกไปชมสวนก่อนจะเข้าเรือนน้ำชา ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามแบบแผนที่กำหนดไว้ นอกจากฝนไม่หยุดแล้ว จากฝนเปาะแปะในตอนสายก็กลับเป็นฝนที่ลงเม็ดใหญ่ขึ้น  เจ้าบ้านจึงต้องปรับเปลี่ยนให้เราเข้าสู่เรือนน้ำชาจากทางเข้าในตัวบ้านซึ่งเป็นทางเข้าเฉพาะของเจ้าบ้าน  โดยปกติแขกจะต้องขึ้นสู่เรือนชาจากทางสวนชา ซึ่งเป็นทางเข้าคนละทางกัน  พร้อมทั้งปรับบรรยากาศในเรือนน้ำชาเสียใหม่ โดยเอามู่ลี่ลงทั้งหมด หรี่แสงให้ห้องอยู่ในเงา 

พิธีชาไม่ใช่เรื่องเฉพาะชาเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ถ้าพูดอย่างกว้างๆคือ รวมบรรยากาศแวดล้อมทั้งหมดที่ผู้ร่วมพิธีพึงรับรู้ได้ ด้วยทุกอายตนะ ไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ   ผู้จัดพิธีชาที่สามารถ จึงต้องเข้าใจธรรมชาติและจัดบรรยากาศให้รองรับความรับรู้ทั้งหมดของผู้เข้าร่วมพิธี  ในสายของการศึกษาพิธีชาญี่ปุ่น พิธีชาจึงถูกจำแนกให้มีรูปแบบอย่างหลากหลายตามโอกาส  เช่น งานน้ำชารับอรุณ งานน้ำชายามเช้า งานน้ำตอนเที่ยง งานน้ำชาหลังอาหาร เป็นต้น  ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการบรรยากาศให้เหมาะสมกับโอกาสนั้นๆ  

ตามวันเวลาที่เจ้าบ้านกำหนด พิธีชาควรจัดแบบงานน้ำชาตอนเที่ยง แต่สภาพอากาศขมุกขมัววันฝนตกทำให้เที่ยงนั้นไม่เป็นดั่งเที่ยง ที่ควรแจ่มใส รูปแบบงานน้ำชาตอนเที่ยงจึงไม่เหมาะสม  เจ้าบ้านปรับบรรยากาศ เปลี่ยนใช้รูปแบบพิธีชาที่เรียกว่า  yobanashi no chaji (งานน้ำชาราตรีสังสรรค์) เพราะไหนๆฟ้าก็ครึ้มแล้ว ลดมู่ลี่ในเรือนน้ำชาลงทั้งหมด หรี่แสงในห้องให้อยู่ในเงา  เลียนแบบบรรยากาศกลางคืน ที่ทำเช่นนี้ได้ก็ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านการฝึกฝนมานับสิบปี

 yobanashi no chaji แปลตามพยัญชนะว่า งานน้ำชาราตรีสังสรรค์ เป็นงานน้ำชาที่จัดกันในกลางคืนช่วงฤดูหนาว เพราะอากาศหนาวนักนอนไม่หลับ ก็ชวนกันมาคุย ทำความอบอุ่นกันด้วยงานเลี้ยงน้ำชา อาจเปิดช่องหน้าต่างชมความงามของหิมะที่พัดลอดเข้ามา คุยกันไปจนเช้า เมื่ออากาศอุ่นขึ้นจึงแยกย้ายกันเข้านอน  ส่วนชื่อ ame no chaji (งานน้ำชาในสายฝน) เป็นชื่อที่ถือวิสาสะตั้งชื่อให้พิธีชาที่คุณจอห์นปรับขึ้นนี้เอง ไม่มีในสารบบที่สำนักชาบัญญัติ อาจด้วยเวลาฝนตกไม่อาจทำนายได้ จึงมีการเตรียมงานเลี้ยงน้ำชารับฝนไว้

แอบเห็นเจ้าบ้านขนถ่านติดไฟคุแดงท่อนเล็กๆสามก้อน กับหม้อต้มน้ำร้อนหายเงียบเข้าไปในห้องน้ำชา  และแล้วก็ออกมาเชื้อเชิญให้แขกเข้าห้อง  ตอนนี้มีอุปกรณ์ที่แขกที่ได้รับเชิญมาร่วมพิธีชาต้องเตรียมมาเป็นการส่วนตัว ได้แก่ กระเป๋าผ้าไหม ภายในมีกระดาษฟางพับครึ่งสำหรับรองขนมปึกหนึ่ง  มีดขนมเล่มหนึ่ง และพัดหนึ่งด้าม  เจ้าบ้านผู้อารีได้เตรียมเอาไว้ให้ ด้วยรู้ว่าแขกมือไม่อาชีพแบบพวกเราคงจะไม่มีแน่ๆ  สำหรับแขกชาวญี่ปุ่น ๒ คนดูเหมือนจะรู้งานดี ทั้งคู่ควัก ทาบิ ส่วนตัว (ถุงเท้าผ้า ที่ตัดเย็บให้มีนิ้วหัวแม่เท้าแยกจากนิ้วอื่นๆ แบบที่เห็นในหนังซามูไร เพื่อจะได้คีบรองเท้าแตะคีบได้) ที่เตรียมเอาไว้ออกมาสวมก่อนเข้าห้อง และได้เตรียมมีดขนมมาให้คนอื่นๆยืมด้วย
อุปกรณ์จำเป็นสำหรับแขกในพิธีชา พัด และกระเป๋าใส่กระดาษ พร้อมมีดขนม
ภาพ nijiri guchi ไม่ได้ถ่ายที่บ้านคุณจอห์น แต่ดูดจาก http://tomi-k.com/shin_sekourei/chashitsu.html
ปกติแขกจะถูกจัดให้ชมสวนก่อน แขกจึงขึ้นเรือนน้ำชาจากประตูที่เปิดทางฝั่งสวน  ประตูทางขึ้นเรือนนี้ มีความสูงไม่ถึงเมตร แขกไม่ว่าจะมีชาติตระกูลยศศักดิ์อย่างไรก็ล้วนถูกบังคับให้ต้องก้มหัวลง เพื่อจะเข้าสู่เรือนน้ำชา  ประตูเตี้ยขึ้นเรือนนี้ เรียก nijiri guchi

ป้ายชื่อเรือนน้ำชา เหนือทางเข้าฝั่งเจ้าของบ้าน
เจ้าบ้านจะเข้าจากประตูอีกฟากที่เปิดเข้าจากตัวบ้าน ซึ่งหลังประตูเจ้าบ้าน คือ พื้นที่จัดเตรียม  เจ้าบ้านจะเข้าในห้องหลังแขกทุกคนเข้าห้องเรียบร้อย ซึ่งจะเป็นคราวแรกที่แขกและเจ้าบ้านได้เห็นหน้ากันในวันนั้น  ถึงตรงนี้เราสมมุติกันว่ายังไม่ได้พบหน้า คุณจอห์น เลยตั้งแต่เช้า

เตรียมเข้าสู่เรือนน้ำชา
ด้วยฝนตกที่ไม่อำนวยให้ออกไปชมสวนแล้วเข้าเรือนน้ำชาตามปกติ  เราจึงถูกจัดให้เข้าเรือนน้ำชาจากทางเข้าฝั่งเจ้าบ้านแทน  สาธิตโดยคุณโอ สาธิตการเข้าสู่ห้องชาตามขนบ ซึ่งกำหนดทุกอิริยาบถดั่งการหัดมารยาทผู้ดีก็ว่าได้  คุณโอ นั่งลงบนส้นเท้า ใช้มือเลื่อนประตูบานเลื่อน แล้วเสือกตัวคืบเข้าไปในเรือนน้ำชาในท่านั่งนั่นเอง  สำหรับคนที่ไม่ได้หัดมาคงจะทุลักทุเลพอควร ในการเคลื่อนตัวในท่าดังกล่าว

ในห้องค่อนข้างมืด ทุกอย่างเห็นเป็นเงาตะคุ่มสีเงา มีกลิ่นไม้สนจากเครื่องหอมที่ถูกเผาลอยอวลอยู่อย่างบางเบา 

ห้องชาตามแบบสำนัก urasenke สายที่คุณจอห์นศึกษามา กำหนดขนาด ห้องสี่เสื่อครึ่ง  (มีพื้นที่เท่ากับพื้นที่ปูด้วยเสื่อตาตามิได้สี่ผืนครึ่ง)  ในมณฑลนี้ คือ โลกทั้งหมดในระหว่างที่พิธีชาดำเนินไป  ขนาดห้องจำกัดจำนวนแขกที่เข้าร่วมได้ไม่เกิน ๕ คน  แต่ คุณจอห์น สร้างห้องชาใหญ่ราวขนาด ๒ ห้องชาปกติต่อกัน แต่สามารถกั้นแยกให้เป็นห้องชาขนาดสี่เสื่อครึ่งตามขนบได้

ช่องแสงเข้าภายในเรือนน้ำชา
เทียนส่องสว่าง บนเชิงเทียนสัมฤทธิ์สามขา ไฟฉายนับพันปีที่แล้ว
ผนังด้านใน ใกล้มุมหนึ่ง เจาะช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าความสูงระดับศีรษะ ให้แสงเข้าในมุมสูง  ใกล้กับช่องแสงเข้า คุณจอห์น แขวนม้วนอักษรปริศนาธรรม ลายมือของสหายชาวเกาหลี แสงมีแค่พอเห็นตัวอักษรบนม้วนภาพได้  การพินิจรายละเอียดจึงต้องอาศัยแสงจากเทียนไขที่ปักบนเชิงสัมฤทธิ์สามขามีด้ามยาว  เชิงเทียนแบบนี้มีทั้งในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น รูปร่างที่เห็นไม่ได้ต่างไปจากของสะสมในพิพิธภัณฑ์ที่มีอายุพันกว่าปีเลย  ตามปกติการใช้เชิงเทียนสามขานี้จะถือที่ด้ามให้เทียนไขยื่นไปข้างหน้า  แต่การส่องภาพเขียนจะจับกลับด้าน เอามือรองจับใต้ฐานที่รองรับเทียน หันให้ด้ามจับยื่นไปข้างหน้าแทน เพื่อป้องกันไม่ให้นำเทียนเข้าใกล้ภาพเขียนในระยะที่อาจไหม้ภาพเขียน  ม้วนอักษรนี้ เมื่อมองใกล้ๆ จะเห็นอักษรตัวจิ๋วๆตัวหนึ่ง กระเด็นอยู่นอกแนวอักษรตัว  เป็นตัวอักษรที่เติมเข้ามา เนื่องจากผู้เขียนตกไปหนึ่งตัว

 “เขาก็คือเขา น้ำก็คือน้ำ พุทธะอยู่ที่ไหน” คือข้อความบนม้วนภาพนั้น 
ชมม้วนอักษร "เขาก็คือเขา น้ำก็คือน้ำ พุทธะอยู่ที่ไหน"

พิธีชาในสายฝน ame no chaji (ตอนที่ ๑)

บันทึก "พิธีชาในสายฝน ame no chaji (ตอนที่ ๑)" 
                                                                 โดย Tee Jongrak (จงรักษ์ กิตติวรการ)

ผมได้รับคำเชิญสำหรับพิธีชาแบบไม่เป็นทางการโดยอีเมล์จาก John Toomey  ต่อไปนี้ขอเรียก คุณจอห์น อีเมล์ระบุวันเวลา สถานที่ ลำดับพิธีกรรม กำกับด้วยเวลาอย่างละเอียด พร้อมคำแนะนำทั้งในส่วนการแต่งกาย และการปฏิบัติ  โอกาสนี้หาไม่ได้ง่ายนัก จึงขอเก็บ "บรรยากาศ" มาเล่าให้ฟัง

คุณจอห์น ผู้นี้เราเพิ่งรู้จักกันที่ร้านชาของผมเอง ด้วยสหายท่านหนึ่งไปฟังคำบรรยายของคุณจอห์นในหัวข้อเครื่องถ้วยที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีชา เห็นว่ารสนิยมน่าจะต้องตรงกัน จึงได้โยงให้เราได้พบปะกัน

ในวันงานน้ำชา ผมพยายามไปให้ทันเวลา ตามธรรมเนียมปฏิบัติมักจะถึงก่อนกำหนดเวลาสักครึ่งชั่วโมง และไม่ควรช้าเด็ดขาด  การจราจรขาออกจากเมืองที่หนาแน่น พร้อมสายฝนโปรยลงมาตลอดทาง แม้จะเป็นวันเสาร์ ผมไปถึงที่หมายช้าไปราว ๒๐ นาที  พอถึงที่หมาย ก็เห็นเจ้าบ้าน อยู่ตรงหน้าบ้านริมรั้ว กำลังคุยง่วนกำกับงานแต่งสวนให้กับหนุ่มที่รับงาน

เจ้าบ้านผู้อารี  รั้วไผ่เปียกฝนชุ่มเขียว  ประตูทางเข้า
เจ้าบ้านผู้อารี รั้วไผ่เปียกฝนชุ่มเขียว ประตูทางเข้า
บ้านของคุณจอห์น เป็นบ้านเดี่ยวในโครงการหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ รอบตัวบ้านมีบริเวณจัดเป็นสวน รั้วบ้านเตี้ยแต่ต้นไม้สูงเกินศีรษะขึ้นแน่นหนา จากภายนอกรั้วจึงมองไม่เห็นตัวบ้าน

เมื่อเสร็จธุระ คุณจอห์น ก็นำผมผ่านประตูรั้วบ้านเข้าภายใน  ในวันที่ฝนตกแหมะๆ สวนเขียวครึมเปียกชุ่มน้ำให้บรรยากาศสดชื่นเป็นพิเศษ  ด้านหน้ามีศาลาไม้แปดเหลี่ยม เสียงน้ำไหลเอื่อยๆลอยมากระทบหู  ที่มาของเสียงซ่อนอยู่หลังรั้วดอกมอร์นิ่งกลอรี่ ที่บานรับแขกยามสาย  เห็นเพียงลำธารเล็กๆไหลลอดใต้รั้วออกมาคั่นพวกเรากับตัวบ้าน หลังรั้วนั้นเป็นทางเข้าสู่เรือนน้ำชา ที่แปลงสภาพจากโรงรถ คุณจอห์นอธิบาย แล้วพาข้ามลำธารเดินเข้าประตูบ้าน ที่มีรองเท้าจากแขกเรื่อจอดเป็นระเบียบอยู่หน้าบ้าน

ทันทีที่ย่างเข้าตัวบ้าน กลิ่นญี่ปุ่นกระทบเข้ากับจมูกทันที  แต่ละชาติก็มีกลิ่นสถานที่เฉพาะที่ต่างกันไป กลิ่นญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นกลิ่นที่มีความรู้สึกแห้ง คล้ายกลิ่นไม้สน หรือไม้จันทน์  เป็นกลิ่นเฉพาะที่ได้กลิ่นนี้ทุกครั้งที่ไปเยือนบ้านคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะบ้านเก่าๆ  เมื่อถามเจ้าบ้าน ถึงที่มาของกลิ่น เจ้าบ้านออกจะแปลกใจอยู่ แล้วว่าคงจะเป็นกลิ่นเครื่องเรือนไม้กระมัง

ผมถูกพาไปสมทบกับแขกชุดก่อนหน้าที่จับกลุ่มชมของสะสมภายในบ้าน เมื่อคุณจอห์นแนะนำให้รู้จักกันครบคนแล้ว ก็นำชมของรักของสะสมไปทั่วบ้าน มีทั้งงานม้วนภาพเขียน ตู้ไม้ เครื่องเรือน ผ้าพื้นเมือง ชุดกิโมโน พรม จำนวนหลายชนิดที่มีที่มาจากเกาหลี จีน ญี่ปุ่น และชาติอื่นๆในเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นของสะสมในแบบขนบนิยมตามวัฒนธรรมของแต่ละชาติ  แขกที่มาล้วนให้ความสนใจสอบถามไล่เรียงรายละเอียดของของแต่ละชิ้น  มาทราบเอาภายหลังว่าทุกคนที่นั่นรู้จักกันเพราะเคยลงเรียนเรื่องเครื่องถ้วยเอเชียอาคเนย์ที่ คุณจอห์น บรรยายให้กลุ่มอาสาสมัครพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติทั้งสิ้น

ด้วยคุณจอห์นเคยอาศัยในเกาหลี และญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานก่อนหน้าที่จะย้ายมาอยู่ที่เมืองไทย กับทั้งยังศึกษาเรื่องพิธีชาของทั้งเกาหลี และญี่ปุ่นมายาวนาน  จึงมีของสะสมจากสองชาตินี้มากเป็นพิเศษ ที่เห็นได้ชัด คือ ม้วนภาพ และม้วนงานอักษร  ซึ่งเป็นที่อย่างดีในการศึกษางานดังกล่าวของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันมาก แต่ก็ดำรงลักษณะเฉพาะของตนเองไว้ จากลายเส้นที่แสดงออก

จานลงรัก ลายดอกฟูจิ จากโอกินาวา ของรักชิ้นหนึ่งจากมุม"Wisteria"
จานลงรัก ลายดอกฟูจิ จากโอกินาวา ของรักชิ้นหนึ่งจากมุม"Wisteria"





วันนี้เป็นวันที่ฝนตกตลอดมาแต่เช้า ท่าทางคุณจอห์นจะกังวลกับฝนมากเนื่องจากไม่ได้คาดว่าจะมีฝน และเตรียมให้เราได้ชมสวน ตามพิธีชาโดยปกติ ซึ่งแขกจะเข้ามายังบ้านเจ้าบ้านผ่านสวนชา และเริ่มซึบซับบรรยากาศตั้งแต่ทางเข้าสวน มายืนถวายเนตรดูเจ้าบ้าน หรือผู้ช่วยเอากระบวยตักสาดน้ำไปทั่วลานหน้าสวน  โดยแขกจะไม่ได้พบหน้าเจ้าบ้านจนกว่าจะเข้าสู่เรือนน้ำชา  แต่พิธีชาคราวนี้ต่างไป ด้วยคุณจอห์น ผ่อนแบบแผนตามขนบลง ให้แขกได้มีโอกาสซอกแซกศึกษาพิธีชาด้วยความอยากรู้อยากเห็นเต็มที่ ทั้งหน้าฉากหลังฉาก เจ้าบ้านจึงปรากฏตัวรับแขกแต่แรกเพื่ออธิบายเรื่องต่างๆ และบอกกล่าวด้วยว่า สมมติว่าเรายังไม่ได้เจอหน้ากัน 

เมื่อแขกมาถึงตามธรรมเนียมก็ต้องตั้งเครื่องดื่มต้อนรับแขก เจ้าบ้านเตรียมน้ำต้มใส่หม้อเหล็กตั้งบนเตาแก๊ส ถึงบทคุณโอ ธนวัฒน์ นักเรียนเก่าญี่ปุ่นที่ใช้เวลาเรียนชงชาที่ญี่ปุ่นอย่างจริงจังถึง ๑ ปีหลังจบการศึกษา วันนี้มาเป็นผู้ช่วยเจ้าบ้าน  ผู้ช่วยเจ้าบ้านจึงทำหน้าที่ตั้งเครื่องดื่มต้อนรับแขกที่เรียก osayu (お白湯)

หลังฉาก การเตรียมน้ำสำหรับทำเครื่องดื่มรับแขก  หม้อน้ำเหล็กสีดำ คือ หม้อที่จะใช้ต้มน้ำในพิธีชาต่อไป ส่วนหม้อสแตนเลสใบโตทางซ้าย คือ หม้อใส่อาหารกลางวันของพวกเรา
หลังฉาก การเตรียมน้ำสำหรับทำเครื่องดื่มรับแขก หม้อน้ำเหล็กสีดำ คือ หม้อที่จะใช้ต้มน้ำในพิธีชาต่อไป ส่วนหม้อสแตนเลสใบโตทางซ้าย คือ หม้อใส่อาหารกลางวันของพวกเรา

ตักผงชาบ๊วยสาหร่ายลงในถ้วย เตรียมเครื่องดื่มรับแขก

ตักผงชาบ๊วยสาหร่ายลงในถ้วย เตรียมเครื่องดื่มรับแขก




คุณโอ ตักน้ำร้อนจากหม้อต้มน้ำถ่ายใส่กาทองเหลืองใบเล็ก ยกถ้วยชาเปล่ามาบนถาดที่คลุมผ้าเรียบร้อย  เมื่อมาถึงห้องรับแขก ก็เลิกผ้าคลุมถ้วยพับเก็บเรียบร้อย แล้วตักผงสีขาวตุ่นๆจากกระปุกดินเผา ใส่ลงในถ้วย และรินน้ำร้อนทับลงไป   น้ำอุ่นรสเค็มปะแล่ม จำได้ว่าเป็นบ๊วยเค็ม ตามมาด้วยรสน้ำสกัดสาหร่ายจางๆ  ผมจำได้ทันทีว่าเป็น ume konbu cha  ด้วยมีประสบการณ์ที่รู้สึกผะอืดผะอมอย่างจำไม่ลืมกับรสน้ำสกัดสาหร่ายเค็มปะแล่มบ๊วยนี้  แต่คราวนี้ไม่เลวร้ายอย่างที่เคยผ่านมา จึงเป็นอันว่าได้เรียนรู้วิธีชงชาบ๊วยสาหร่ายนี้จากคุณโอว่า จงชงให้จางเข้าไว้ อย่าให้เข้มนักรสโอชะสาหร่ายจะกลายเป็นรสชวนคลื่นเหียน

เติมน้ำร้อนละลายผงชาบ๊วยสาหร่าย
เติมน้ำร้อนละลายผงชาบ๊วยสาหร่าย



osayu แต่เดิมเป็นเครื่องดื่มที่มีรสเค็มด้วยการเจือเกลือ เพื่อต้อนรับแขกที่ต้องเสียเหงื่อ เดินทางข้ามเขามาร่วมพิธีชา  แต่ปัจจุบันอาจจะเป็นน้ำร้อนเปล่าๆ แต่บังคับว่าจะต้องเป็นน้ำตัวเดียวกับที่จะใช้ชงชาในวันนั้นๆก็ได้  การต้อนรับแขกด้วย osayu จึงเป็นการนำเสนอน้ำที่จะใช้ให้แขกชิม คุณโอ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในญี่ปุ่นพิธีชาก็ยังให้ความสำคัญกับน้ำที่ใช้ โดยเลือกตักน้ำจากแหล่งน้ำสำคัญ และเมื่อสำนักชาจัดพิธีที่เปิดสำหรับคนนอก ก็ยังมีคน ญี่ปุ่น โดยมากมักเป็นคนสูงอายุ ที่เดินทางมาร่วมพิธีเพียงเพื่อชิมน้ำเปล่าที่ว่าเท่านั้น โดยไม่ประสงค์เข้าร่วมพิธีชาก็มี