16 August 2013

ตงฟางเหม่ยเหยิน (東方美人): สาวงามตะวันออก

บทความ "ตงฟางเหม่ยเหยิน (東方美人) : สาวงามตะวันออก"

โดย Tee(Jongrak)

ชาตงฟางเหม่ยเหยิน อีกชื่อเรียกกันว่า ชาอูหลงขนขาว (白毫烏龍)ซึ่งบอกลักษณะใบชาที่มีขนขาว (白毫/Pekoe) ปริมาณมาก เป็นชาไต้หวันที่เรียกว่าประหลาด ก็คงจะไม่ผิดนัก   ประหลาดตั้งแต่พันธุ์ชาซึ่งเป็นพันธุ์ชาที่ใช้ทำชาเขียว ฤดูที่ทำชา  ชาชนิดนี้ทำเพียง ในช่วงฤดูร้อนราวมิถุนายนถึงกรกฏาคม  ซึ่งโดยทั่วไปชาชนิดอื่นๆ จะทำได้ชาคุณภาพด้อยที่สุดหากใช้ใบชาที่เก็บในฤดูร้อน  ส่วนชาคุณภาพดีก็มักจะเป็นฤดูใบไม้ผลิหรือช่วงปลายฤดูหนาวต่อฤดูใบไม้ผลิ หรือฤดูใบไม้ร่วง    ประหลาดขึ้นอีกเมื่อชาชนิดนี้ต้องอาศัยแมลงในการผลิตชา   แมลงที่ว่านี้เป็นแมลงเขียวๆตัวจิ๋วพวกเพลี้ยกระโดดซึ่งจะลงกัดต้นชาในฤดูร้อน  การกัดของแมลงนี้เองสร้างกลิ่นรสอันเป็นบุคลิกของตงฟางเหม่ยเหยิน  

ก่อนจะมาเป็นชาตงฟางเหม่ยเหยินเพลี้ยคงไม่เป็นที่ต้องการของสวนชานัก เนื่องจากเพลี้ยเป็นแมลงศัตรูพืช  แต่ด้วยความบังเอิญที่พบว่าใบชาที่ถูกเพลี้ยกัดมีกลิ่นรสหอมหวานเป็นพิเศษระดับการสูบน้ำเลี้ยงของเพลี้ยที่ต่างกันจะให้กลิ่นชาที่ต่างกันออกไป หากถูกเพลี้ยสูบกินน้ำเลี้ยงไปไม่มากนักจะให้กลิ่นดินและลูกไม้  ยิ่งถูกเพลี้ยสูบกินน้ำเลี้ยงไปมากชาก็ยิ่งมีกลิ่นรสที่หอมหวานเข้มข้น จึงกลับกลายเป็นว่าเพลี้ยเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการผลิตชาตงฟางเหม่ยเหยิน

เคยมีความพยายามหลายครั้งที่จะผลิตตงฟางเหม่ยเหยินในหลายพื้นที่รวมทั้งตอนเหนือของไทยแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่สามารถจัดการความเป็นอยู่ของเพลี้ยได้  หากคิดเพียงว่าปลูกเพียงต้นชาชนิดเดียวล้วนๆให้เพลี้ยกัดแล้วเพลี้ยก็จะลงกัดต้นชา คงเป็นความคิดแบบตัดตอนที่ง่ายเกินไป พื้นที่ผลิตตงฟางเหม่ยเหยินได้ดูเหมือนกับว่าต้องการสภาพธรรมชาติที่สะอาดและบริสุทธิ์ มีสายหมอกน้ำค้างยามเช้า มีแสงแดดตอนก่อนเที่ยง มีเงารำไรยามบ่าย  มีป่า มีเขา และปราศจากยาฆ่าแมลง  คงเป็นด้วยปัจจัยจำเป็นทางธรรมชาติที่ว่าพื้นที่ผลิตตงฟางเหม่ยเหยินจึงจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ที่เท่านั้นเช่นที่ ชินจู(新竹) และเมี๊ยวลี่ (苗栗)ในไต้หวัน

ใบชาที่จะนำไปทำเป็นชาตงฟางเหม่ยเหยิน มีเพลี้ยเกาะอยู่หนึ่งตัว
http://www.hojotea.com/item/o01.htm
ใบชาที่จะนำไปทำเป็นชาตงฟางเหม่ยเหยิน มีเพลี้ยเกาะอยู่หนึ่งตัว 
http://www.hojotea.com/item/o01.htm

ภาพขยายเพลี้ยให้เห็นกันชัดๆ
 http://plaza.rakuten.co.jp/huataitea/diary/?ctgy=6

ภาพขยายเพลี้ยให้เห็นกันชัดๆ http://plaza.rakuten.co.jp/huataitea/diary/?ctgy=6

ใบชาตงฟางเหม่ยเหยิน

ใบชาตงฟางเหม่ยเหยินต่างกับใบชาทั่วไป ใบชาทั่วไปชนิดหนึ่งๆมักมีลักษณะสีสันเหมือนๆกลมกลืนกัน  แต่ใบชาตงฟางเหม่ยเหยิน มีหลากหลายสีสันดูราวกับว่าผสมมาจากใบชาต่างชนิดกัน มีทั้งใบที่มีขนขาว ใบเหลืองเหมือนใบไม้กรอบและใบออกสีน้ำตาลเข้ม แม้ว่าตามกระบวนการผลิตชาตงฟางเหม่ยเหยินจะถูกจัดเป็นชากึ่งหมักก็ตาม แต่ระดับการหมักที่ค่อนข้างแก่ หรือที่เรียกกันว่าแปดแดงสองเขียว (八紅二綠) รสที่ออกมาจึงออกมาในโทนที่เป็นกลิ่นหอมหวานแบบผลไม้ ค่อนไปทางกลุ่มชาแดง    ดังนั้นกลิ่นและรสของตงฟางเหม่ยเหยินก็ยังเป็นสิ่งที่แปลกแยกแตกต่างจากชาอื่นในพวกชากึ่งหมักอีกด้วย


ท่านที่สนใจชานี้ร้านดับเบิ้ลด๊อกส์ มีชาตงฟางเหมยเหยิน คุณภาพเยี่ยมจากผู้ผลิตทีี่เก่าแก่ที่สุดในไทเปจำหน่าย

ปล. ขอบคุณคุณชายเอ ชายงามตะวันออก ที่ช่วยแต่งเติม

ชาหลากสี


บทความ "ชาหลากสี"

โดย Tee(Jongrak)


















ภาพฉบับภาษาอังกฤษ จาก  http://en.wikipedia.org/wiki/File:Teaprocessing.svg

กำลังคิดว่าจะเขียนเรื่องการจำแนกชาเป็นสีๆอย่างไรดี ก็ไปพบข้อมูลแผนภูมิการจำแนกชาในวิกิ ซึ่งเขาทำให้เข้าใจการจำแนกชาเป็นกลุ่มตามกระบวนการผลิตได้ง่ายดี  จึงขอยืมเขามาดัดแปลงเล็กน้อยท่านที่ต้องการอ่านฉบับภาษาอังกฤษติดตามได้จากลิงค์ที่ให้ไว้ใต้ภาพ  ผมขอเติมเล้นสีแดงแบ่งชาเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ๒ กลุ่มพวกหนึ่งผ่านกระบวนการออกซิเดชั่น อีกพวกหนึ่งไม่ผ่านกระบวนการออกซิเดชั่น 

ขอเริ่มจากกลุ่มชาที่ผ่านกระบวนการออกซิเดชั่นเมื่อได้ใบชาสดมาจะเอามาตากระเหยน้ำให้ชาสลดจะใช้ตากแดดหรือตากลมก็แล้วแต่ช่างทำชา หลังจากนั้นจะขยี้ให้ใบชาช้ำเมื่อชาช้ำจะเริ่มเกิดกระบวนการทางเคมีที่เรียกว่าออกซิเดชั่นเป็นกระบวนการทางเคมีที่ซับซ้อน สีใบชาจะคล้ำขึ้นจากสีเขียวสด เป็นเขียวเข้มกระทั่งเป็นสีทองแดง หรือน้ำตาลในระหว่างนี้กลิ่นรสของใบชาจะเปลี่ยนไปตามระดับของปฏิกิริยาทางเคมี  การหยุดปฏิกิริยาอาศัยความร้อน ดังนั้นช่างชาจึงสามารถกำหนดระดับของของปฏิกิริยาที่ต้องการให้เกิดได้ ถ้าปล่อยให้เกิดปฏิกิริยาจนสมบูรณ์เอาใบชาไปม้วนขึ้นรูป และทำให้แห้ง ก็จะได้ใบชาที่มีออกสีน้ำตาลแดง หรือสีทองแดงคนจีนเรียกว่า ชาแดง แต่ฝรั่งเอาไปเรียกกันว่า ชาดำ (black tea) ทำให้สับสนมากกับ ชาดำ อีกกลุ่ม

ถ้าช่างชาหยุดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นระหว่างที่ปฏิกิริยายังเกิดไม่สมบูรณ์เอาไปขึ้นรูป ทำให้แห้ง และอาจปรุงเพิ่มเติมโดยการคั่วจะได้ใบชาที่มีสีคล้ำตั้งแต่ระดับเขียวเข้ม เขียวคราม ไปจนสีน้ำตาลเข้มออกดำ  คนจีนเรียก ชาเขียวครามซึ่งสีเขียวครามของจีนที่ว่านี้เป็นได้ทั้งสีเขียว และสีฟ้าในสายตาคนไทย  ขออนุญาตเรียก ชาสีฟ้า  เพื่อเลี่ยงชาเขียวที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ส่วน ชาขาว หลังตากจนสลดแล้วจะอบด้วยความร้อนพื่อหยุดปฏิกิริยาตรึงชาให้คงสภาพ หรือข้ามไปอบให้แห้งเลย ถึงแม้ว่าชาขาวจะไม่ได้ขยี้ให้ช้ำเพื่อเร่งให้เกิดออกซิเดชั่นแต่ระหว่างเวลาที่ทิ้งให้สลดก็มีกระบวนการออกซิเดชั่นเกิดตามธรรมชาติเล็กน้อยทำให้ชาขาวมีกลิ่นหอมดอกไม้

ชาอีกกลุ่มหนึ่งเป็นชาที่ไม่ผ่านกระบวนการออกซิเดชั่น มีกระบวนการผลิตของชาเขียวเป็นหลัก เมื่อได้ใบชาสดมาแล้วจะผ่านความร้อน อาจจะโดยการนึ่งหรือการคั่ว เพื่อหยุดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นทันทีเพื่อต้องการคงความเขียว ความสดของชาไว้ แล้วจึงม้วนขึ้นรูป และทำให้แห้ง

ส่วน ชาดำ มีกระบวนการเพิ่มเติมจากชาเขียว คือการเก็บบ่มให้สุก อาจจะเก็บให้ค่อยๆมีอายุมากขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ผู่เออร์ดิบ  ซึ่งอาจจะใช้เวลา ๑๐ ถึง ๕๐ปีกว่าจะกลายเป็นชาสุก ในช่วงก่อนที่ชาจะสุกดีผมเองขอจัดให้เป็นชาเขียวเพราะกลิ่นรสของมันยังเป็นชาเขียวอยู่ ช่างชาอาจจะเร่งชาให้สุกเร็วขึ้นเพราะทนรอให้ชาสุกเองไม่ไหวโดยใช้กระบวนการทางเคมีชาพวกนี้มักสุกพร้อมดื่มได้เลย ได้แก่ ผู่เออร์สุก

ชาอีกกลุ่ม คือ ชาเหลือง ซึ่งหายาก แม้ไปถึงเมืองจีนก็ใช่หาได้ง่ายๆ และมักจะเก่าหมดอายุ เป็นชาที่เริ่มกระบวนการแบบชาเขียว แล้วเอามาบ่มด้วยความร้อนชื้น ทำให้มีกลิ่นเฉพาะ สีใบชาจะออกเหลือง แล้วจึงขึ้นรูป และทำให้แห้ง


ที่ว่าด้วยเรื่องการจำแนกชา ก็เพื่อปรับความเข้าใจให้ตรงกันเป็นพื้นก่อนมิฉะนั้นจะสื่อสารกันคลาดเคลื่อน  อันที่จริงมีชาโบราณอีกประเภทหนึ่งมีกรรมวิธีหมักให้เปรี้ยวคล้ายเมี่ยงแต่ใช้ชงเป็นเครื่องดื่ม ไม่ได้ใช้เคี้ยวเป็นหมากเหมือนทางเหนือของไทย  ชาชนิดนี้ยังหลงเหลือผลิตในญี่ปุ่นบางพื้นที่ซึ่งยังนึกไม่ออกว่าจะจัดเป็นชากลุ่มใดดี อีกตัวคือ ชากาบาหลง ที่มีกรรมวิธีการทำพิสดารทำให้เซลล์ชาแตก ซึ่งอย่างน้อยก็สองตัวนี้ที่ยังหากลุ่มให้มันไม่ได้ จำต้องติดเอาไว้ก่อน

30 July 2013

Review by Bangkok.com



Bangkok’s Chinatown is a lot of things, but relaxing it is not. A day spent exploring the endless alleyways of traders and vendors is culturally stimulating but physically exhausting. That is why Double Dogs Tea Room proves such a welcome harbour from the frenetic pace of life outside. This air-conditioned shophouse on Yaowarat – the high street of Chinatown – serves a range of premium teas and Chinese cakes with all the pride and ceremony of a traditional tea room, and yet it is a casual hangout for weary visitors and more than the odd local too. (Read more at http://www.bangkok.com/magazine/double-dogs-tea-room.html )

30 June 2013

"Hidden Bangkok" : Review by Kaitlin Ree

Hidden Bangkok


Chinatown
The Chinatown area of Bangkok is a maze of fascinating streets that is undergoing constant change. Words by Kaitlin Rees, photos by Aaron Joel Santos

Shop for watches by day, eat fish intestine soup by night. Bangkok’s Chinatown shifts its focus from the wrist and wallet to the mouth and stomach over the course of 24 hours. Yet it is the nighttime offerings that are bringing in the visitors.

“Best food in all of Bangkok,” is the modest claim of one 58-year-old native Bangkokian who is carrying a shopping bag full of produce for the next day. “You can find everything here, depending on what you want,” is the cryptic yet somehow convincing follow up.

His bold statement about the food refers to any number of delicious things: the aforementioned fish intestine soup (ca por pra), the squid/pork noodles outside the old Chinatown Rama cinema (qued theo lot) or the rolled-up-like-a-bugle fat noodle loaded with pork skin and black pepper (cuay chap).

Though cuisine is the decided draw for this area of an already food-obsessed city, it wasn’t always. Bangkok’s Chinatown is one of the oldest parts of this metropolis, first established as a trading point from the Chao Phraya River between Siam and China in the late 18th century. The winding streets — constructed about 100 years later, during the reign of Rama V — resemble a dragon’s curving body, and were the beginnings of a business aesthetic that until recently predominated the area.
Hidden Bangkok
All that Glitters

Yaowarat Road, with Sam Peng Market in the centre, is the main thoroughfare of what is a historically wealthy part of Bangkok. Because of the limited amount of land space, the real estate around Yaowarat Road is some of the most expensive in not just the city, but Thailand too. Upper class Thai-Chinese families have traditionally inhabited the area, controlling businesses that are noteworthy even in the late night street food eating frenzy. Gold, jewellery, and watch shops flood the main road and the surrounding streets that include Charoen Krung Road, Mongkon Road and Song Sawat Road.

But an apparent side effect of the area’s collected wealth is the flight of internationally educated young professionals away from the local family business. According to one young man who was raised in Chinatown but studied photography abroad, it can be difficult to return to the family jewel shop. He recently relocated to the city centre, as many of his generation have, leaving their home neighbourhood in the hands of street food vendors and out-of-towners.

However, this is not the whole story. Some of the younger generation sense the new opportunity resting just beneath the surface of this historic area. One business that sticks out for not being a delicious street food stall nor an abandoned bank is called Double Dogs Tea Room.

Body and Mind

Though you may just wander in because it looks like one of the few places in Chinatown that offers a clean bathroom at night, you’ll want to stay once you realise the gem you’ve stumbled upon. If your tour of the tea room starts in the back (by the bathrooms), you’ll notice the second half of the building is an open calligraphy workshop, where the owner and his friends practice their hobby to break up the evening. The large tables, paper, ink, and swaying curtains set the relaxed vibe for the front of the house, which serves drinks and dessert. ‘Serving’ in the sense of providing nourishment, but also in providing an education. The menu doubles as a teaching text that could be entitled An Armchair Expert’s Guide to Tea of Thailand, with a breakdown of region, ideal oxidation level and a how-to-pour-it for each of the dozen blue, green, red and black teas available. In addition to all this smartness, ‘hip’ is written into the menu with the list of tea and coffee cocktails and traditional treats.

From business to food, over the years Chinatown has seen a shift in the nature of its magnetic pull. But if Double Dogs Tea Room and the young guys behind its counter are any indictors, a shift back to a new generation of innovative business owners may be in store.

If you’re interested in checking it out, Double Dogs Tea Room is at 406 Yaowarat Road between Mongkon Road and Yaowa Pahnit Road and like everything in this world, you can find them on Facebook
Hidden Bangkok
Information 

Getting to Bangkok is one of the easiest journeys available out of Vietnam. When you’re in the Thai capital, go to Hua Lamphong Railway Station to get to the Chinatown area. Charoen Krung Road runs directly to the station.

From http://www.wordhcmc.com/features/item/3464-hidden-bangkok

31 May 2013


แฟชั่นชาในจีน

                                        โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

เมื่อลองสาวแฟชั่นชาของญี่ปุ่นกลับไปในจีน ก็คงต้องแกะรอยจากพุทธศาสนาเนื่องจากแฟชั่นชาในญี่ปุ่นได้มาจากพระที่ถูกส่งไปเรียนที่จีน

อารยธรรมจีนปรากฏชาเป็นบรรณาการที่ราชสำนักโจวเรียกเอาจากประเทศราชแถบยูนาน ในสมัยนั้นจีนคงใช้ชาในฐานะเครื่องยาชนิดหนึ่งและการที่ต้องเรียกเอาบรรณาการก็เข้าใจได้ว่าชาคงเป็นผลิตผลเฉพาะถิ่นซึ่งไม่มีในอาณาจักรของจีน

ในสมัยฮั่น ชา และถูกใช้เป็นเครื่องดื่ม แต่คงจะถูกจำกัดในแวดวงที่เฉพาะอย่างน้อยเรารู้ว่าบัณฑิตผู้มีอันจะกิน สามารถหาซื้อชาได้หากแต่ต้องเดินทางไปไกลไปหาซื้อในถิ่นเฉพาะ

พอเข้ายุคถัง จากคัมภีร์ฉาจิงซึ่งเป็นตำราเกี่ยวกับชาที่เก่าแก่ที่สุด เรียบเรียงขึ้นโดย ลู่อวี่  จีนน่าจะรู้จักปลูกชาแล้ว และมีแหล่งชาหลายแหล่งกระจายกันไปในหลายพื้นที่ชาที่ดื่มกันในยุคนี้เป็นชาเขียวอัดก้อน ซึ่งต้องนำมาย่างไฟให้อ่อนตัวและแดงก่อนที่จะบด แร่ง แล้วเอาต้มในน้ำเดือด ตามด้วยเครื่องปรุงซึ่งอาจจะมีเกลือขิง เปลือกส้ม ฯลฯ  ในยุคถังนี้จีนมีสงครามกับทิเบต และเพื่อสงบศึกจีนได้ส่งเจ้าหญิงเหวินเฉินไปแต่งงานกับกษัตริย์ทิเบตเจ้าหญิงเหวินเฉินได้นำวัฒนธรรมจีนเข้าไปเผยแพร่ในทิเบตด้วย หนึ่งในนั้นคือ ชา  วิธีที่ทิเบตเตรียมชาอัดก้อนจากเสฉวนโดยต้มชาในน้ำเดือดแล้วเอาตีผสมให้เข้ากับเนยจามรีและเกลือน่าจะเป็นชาที่มีความใกล้เคียงชาที่ดื่มกันในสมัยถัง

ในสมัยถังนี้ในราชสำนักมีงานเลี้ยงน้ำชาเป็นการรื่นเริงและชาคงเป็นเครื่องดื่มที่ให้สุนทรียรสอันละเมียดสังเกตได้จากความใส่ใจในรายละเอียดของการเตรียมชาที่ปรากฏในคัมภีร์ฉาจิง 

พุทธศาสนาคงเข้ามาเป็นที่รู้จักในจีนก่อนหน้านี้อย่างยาวนานแต่ปรากฏให้เห็นว่าราชสำนักส่งทูตไปนำเข้าพระ พร้อมกับคัมภีร์เข้ามาและสร้างวัดม้าขาวขึ้นเป็นวัดแรกในสมัยฮั่น ราวศตวรรษที่ ๑   ต่อมาพุทธศาสนาก็ได้อาศัยการเมืองอุปถัมภ์ให้เติบโตพระถุงซำจั๋งเดินทางไปศึกษาต่อพร้อมกับอัญเชิญพระไตรปิฏกกลับจากอินเดียในราวศตวรรษที่๗ เกิดการแปลพระไตรปิฏกจากสันสกฤตเป็นจีนกันขนาดใหญ่ด้วยราชสำนักอุปถัมภ์

พุทธศาสนาในจีนกับชาเริ่มพบกันเมื่อใดไม่ทราบ แต่ ลู่อวี่ผู้แต่งคัมภีร์ฉาจิงได้อาศัยเติบโตในวัด ก็ได้เริ่มเรียนรู้เรื่องชาจากวัดนี่เอง ซึ่งเป็นเรื่องราวในศตวรรษที่๘ วิถีชีวิตของพระและชาคงจะมีความผูกพันกันพอสมควร จากฤทธิ์ชาที่ทำให้ไม่ง่วงพระจึงดื่มชาเพื่อช่วยในการนั่งสมาธิ  และเพื่อให้มีชาดื่มพระจึงต้องปลูกชาและทำชาด้วย  เหตุการณ์นี้คงจะเกิดขึ้นจนเป็นวัตรปฏิบัติและเมื่อจะไปตั้งวัดใหม่ หรือไปอยู่จำที่ใดเป็นเวลานานพระก็คงจะนำชาและพันธุ์ชาไปด้วย เพื่อไม่ให้ขาดแคลนชา

แฟชั่นพระที่มักไปควบคู่กับชาเช่นนี้คงมีสืบต่อลงมาเรื่อยๆถึงราชวงศ์ซ่งเพราะปรากฏว่าพระนักศึกษาญี่ปุ่นที่มาเรียนที่เมืองจีนตั้งแต่สมัยถังเรื่อยมาจนถึงสมัยซ่ง ต่างก็พกพาชาและพันธุ์ชากลับญี่ปุ่น เพียงแต่รูปแบบชาในสมัยซ่งเปลี่ยนไปจากชาในสมัยถัง  ชาซ่งเป็นชาเขียวอัดเป็นก้อนเมื่อจะเตรียมชาจึงนำมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วจึงใส่น้ำร้อน ใช้แปรงตีให้ผงชารวมเป็นเนื้อเดียวกับน้ำร้อน  มัตฉะที่ดื่มกันในญี่ปุ่นปัจจุบัน คือร่องรอยของชาราชวงศ์ซ่ง ที่พอเห็นได้

ส่วนชาเป็นใบๆใช้ลวกน้ำร้อนนั้นเกิดขึ้นในสมัยหมิงและชิงนี่เอง รสนิยมคนจีนเปลี่ยนไปมากเมื่อดูจากลักษณะของชาที่ทำ ที่ในสมัยซ่งคงทำรสเรียบง่ายแต่ลุ่มลึก แต่เมื่อเป็นชาใบลวกน้ำร้อนรสชากลับทำไปในลักษณะที่มีกลิ่นรสฉูดฉาดประดิดประดอย ซึ่งสะท้อนให้เห็นในถ้วยชาและอุปกรณ์ซึ่งในสมัยซ่งมักเป็นถ้วยเคลือบสีเดียวเรียบง่าย ทรงธรรมชาติ  แสดงออกด้วยรูปทรง ผิวเนื้อและเทคนิคน้ำเคลือบ  เมื่อเข้าสมัยหมิงและชิงถ้วยชากลับเปลี่ยนเป็นเนื้อละเอียดมันวาวเขียนลวดลายประดิดประดอย

ใบชาสับละเอียดชงน้ำ เกิดเมื่ออังกฤษส่งจารบุรุษเข้ามาขโมยพันธุ์ชาจีนไปปลูกยังอินเดียแล้วจึงได้ทำชาแดงโดยใช้เครื่องจักร และเศษฝุ่นของชาที่เป็นขยะในแง่เครื่องดื่มเพื่อสุนทรียรสก็ถูกจับแปลงใส่ถุงชาให้กลับมาใช้ชงแบบจุ่มน้ำร้อน เป็นความชาญฉลาดในการล้างความรังเกียจการดื่มน้ำจากเศษขยะชาเหล่านี้พร้อมโกยกำไรมหาศาล

แฟชั่นชาในญี่ปุ่น

                                            โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)


หลังจากที่ร้านกาแฟแมลงแห่งดวงดาวเข้ามาหยั่งรากปักฐานในเมืองไทยจากพื้นฐานธุรกิจกาแฟในอเมริกาที่เติบโตจากจุดขาย คือ โซฟา  ขณะนั้นมีอเมริกันชนไม่มากที่สามารถซื้อโซฟาราคาแพงมานั่งนอนเป็นการส่วนตัวได้แมลงแห่งดวงดาวเสนอโซฟาให้ลูกค้านั่งเพียงจ่ายเงินค่ากาแฟ ร้านแมลงแห่งดวงดาวจึงเน้นที่ต้องมีโซฟาบริการลูกค้าจนเท่ากับขายค่านั่งโซฟาแล้วแถมกาแฟ  การได้นั่งๆนอนๆบนโซฟาคงไม่ใช่ความฝันของคนไทยจำนวนมากธุรกิจกาแฟของร้านแมลงแห่งดวงดาวในไทยกลับทำให้คนไทยอยากกินกาแฟที่ชงจากเครื่องชงตัวโตๆดูเหมือนเครื่องจักรจากต่างดาวกับนั่งถือถ้วยกาแฟในร้านให้คนเห็น ความอยากบริโภคน้ำคั้นจากเครื่องจักรกลต่างด้าวของคนไทยพุ่งปรี๊ดปราด พาให้ร้านกาแฟริมทางร้านเล็กร้านน้อยเปลี่ยนจากชงกาแฟถุงแห่กันซื้อหาเครื่องชงกาแฟความดันสูงราคาหลักหมื่นหลักแสน  หากพระราชดำริของรัชกาลที่ ๕ เรื่องการปลูกต้นมะขามในที่สาธารณะให้คนให้นกได้อาศัยเก็บกินได้รับการตอบรับจากภาครัฐ  ร้านกาแฟต่างๆคงจะได้อาศัยเก็บเม็ดมะขามริมทางมาคั่วใส่เครื่องจักรชงกาแฟลดต้นทุนวัตถุดิบน้ำคั้นจากเครื่องจักรต่างด้าว และทำกำไรได้มากขึ้นอีกเป็นแม่นมั่น


เรื่องแฟชั่นกาแฟพาให้หวนคิดไปถีงแฟชั่นชาในญี่ปุ่น  คนนำชาจากจีนเข้าไปจุดกระแสในญี่ปุ่นตัวสำคัญดูเหมือนจะเป็นพระในพุทธศาสนา และมีความพยายามหลายครั้งกว่าจะจุดกระแสติดครั้งแรกปรากฏตามบันทึกในศตวรรษที่ ๙ มีพระภิกษุชงชาถวายจักรพรรดิซากะ  หลังจากนั้นเรื่องชาก็ดูซาหายไปช่วงใหญ่และกลับปรากฏอีกทีตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑๒  พระภิกษุหลายรูปที่เดินทางไปเรียนต่อในแผ่นดินซ่งนำชาจากจีนกลับมาญี่ปุ่นด้วยพร้อมกับพันธุ์ชา  แล้วชาเริ่มแพร่จากวัดเข้าไปในชนชั้นนักรบราวศตวรรษที่๑๔ แต่ดูเหมือนว่าชาวบ้านร้านรวงก็รู้เรื่องชากัน แต่เป็นของสูงเกินเอื้อมสำหรับสามัญชน ด้วยปรากฏเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับคุณของชาระหว่างพระกับคนเลี้ยงวัว ที่เคยเขียนเล่าไปแล้วก่อนหน้านี้ตามลิงค์ข้างล่างนี้



คำถาม คือทำไมพระนักศึกษาญี่ปุ่นที่ไปเรียนต่อเมืองจีนต้องนำชากับพันธุ์ชากลับไปด้วย?  น่าสงสัยว่าชาเป็นสัญลักษณ์ของนักเรียนนอกหรือไม่ ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ก็ตาม วัดที่มีวัฒนธรรมชาเท่ากับป่าวประกาศกลายๆว่าวัดนี้มีหลวงพี่หลวงพ่อชุบตัวมาจากเมืองจีน  เพราะวัฒนธรรมชาเป็นวัฒนธรรมนำเข้าจากจีนไม่มีในญี่ปุ่น  คงพอเทียบได้กับคนไทยที่พูดไทยสำเนียงฝรั่ง หรือพูดไทยคำฝรั่งคำให้คนอื่นจับได้ว่าผ่านการชุบตัวมาจากเมืองนอก

คุณของชา

                                                           โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่) 



กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีคนเลี้ยงวัวคนหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งคนเลี้ยงวัวได้พบกับพระรูปหนึ่งเดินเข้ามาใกล้ ในใจจึงคิดว่า นานๆจะได้พบ พระซักทีถือโอกาสขอชาดื่มสักหน่อย เห็นทีคงจะเป็นยาวิเศษอะไรซักอย่างแน่ๆ ในขณะนั้นชาไม่ได้มีดื่มกันอย่างแพร่หลายในญี่ปุ่น คงมีพระและข้าราชสำนักเท่านั้นที่มีโอกาสดื่มชา ชาวบ้านทั่วไปแทบจะไม่มีโอกาสดื่มชาเลย

เมื่อพระถูกขอชา จึงกล่าวว่า โอ นี่แหละยาวิเศษ ที่มีคุณสามประการ เดี๋ยวอาตมาจะเตรียมให้โยมดื่มเลย
ว่าแล้วพระก็ลงมือเตรียมชา พร้อมกับสาธยายคุณวิเศษของชาทั้งสามประการแก่คนเลี้ยงวัว
ประการแรก เวลานั่งสมาธิมักจะง่วงเหงาห่าวนอน ถ้าดื่มชาเข้าไปก็ช่วยให้อดหลับอดนอนได้ตลอดคืน
ประการที่สอง เวลากินอาหารอิ่มท้อง เมื่อดื่มชาจะทำให้อาหารย่อยได้เร็ว ท้องโล่งตัวเบาสบาย ไม่อึดอัด
และประการสุดท้าย ช่วยให้มันไม่ตั้งนะโยม

พอได้ฟังการสาธยายสรรพคุณชาจากพระจบ คนเลี้ยงวัวก็หน้าเปลี่ยนสี กล่าวตอบ
หลวงพ่อ ตัวข้าทำงานเหนื่อยตัวแทบตลอดทั้งวัน พอกลับถึงบ้านตอนค่ำข้าก็อยากจะนอนตายเป็นศพ ถ้านอนไม่หลับข้าคงจะล้าไม่มีแรงทำงาน อีกอย่างข้าวข้าก็ไม่ค่อยมีจะกรอกหม้อ ที่พอมีก็กินไม่อยู่ท้องอยู่แล้ว ถ้าอาหารย่อยเร็ว ท้องข้าคงร้องครวญครางตลอดเวลา แล้วข้าก็อยู่กินกับเมีย ถ้าดื่มชาเข้าไปก็คงทำเรื่องอย่างว่าไม่ได้นะสิ ถ้าชามีคุณวิเศษแบบหลวงพ่อว่าจริงละก็ ข้าไม่ต้องการแล้วล่ะ หลวงพ่อเก็บไว้ดื่มเองเถิด

เมื่อได้ฟังนิทานญี่ปุ่นเรื่องนี้ ก็นึกถึงการโฆษณาขายของในช่วงที่กระแสสุขภาพนิยมกำลังมาแรง อะไรๆก็ถูกจับโยงเข้ากับความเชื่อว่า กินหรือใช้แล้วทำให้สุขภาพดี เพื่อให้ค้าได้ขายคล่อง คนเลี้ยงวัวในเรื่องก็คงจะได้ฟังคำบอกเล่าสารพัดสรรพคุณชา ถึงได้ขอชาจากหลวงพ่อ จะต่างกับยุคปัจจุบันอยู่บ้างก็ที่หลวงพ่อไม่ได้ค้าขายชา

23 May 2013

Bajouhai (馬上杯)


Bajouhai (馬上杯)

                                  โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
ภาพจาก http://okanoen.blog53.fc2.com/blog-entry-136.html

Bajouhai (馬上杯) อ่าน บะ-โจ-ไฮ  เป็นถ้วยชาที่มีฐานสูง แปลตามอักขระว่า ถ้วยบนหลังม้า  ถ้วยชาออกแบบมาให้ใช้บนหลังม้า โดยมีฐานสูงสำหรับถือถ้วยได้มั่นคงในมือเดียว ส่วนมืออีกข้างใช้ถือบังเหียนม้า

การดื่มชาในยามสมรภูมิ นักรบบนหลังม้าจะกุมถ้วยชาในมือหนึ่ง โดยมีทีมาสเตอร์ติดตาม ๒ คน เมื่อเติมผงมัชฉะลงในถ้วย Bajouhai นี้แล้ว ทีมาสเตอร์คนที่หนึ่งจะรินน้ำร้อนจากกาน้ำร้อนลงในถ้วยแล้วถ้อยออกไป ทีมาสเตอร์คนที่สองจะเข้ามาและใช้แปรงตีชา ตีผงชาในถ้วยจนเข้ากับน้ำร้อนให้พร้อมที่จะดื่ม 

เมื่อสิ้นยุครณรัฐ โดยฮิเดโยชิ รวมอำนาจการปกครองเป็นปึกแผ่น สงครามระหว่างแคว้นสิ้นสุดลง ถ้วยบนหลังม้า ก็หมดไปด้วย

เทียบ Matcha


เทียบ Matcha

                                             โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
matcha แปลตามพยัญชนะได้ว่า ชาป่น คือ ใบชาที่ผ่านกระบวนการทำชาเขียว โดยการนึ่งใบชาสดด้วยไอน้ำ ทำให้แห้ง และในท้ายที่สุดถูกป่นเป็นผงละเอียด เป็นชาโบราณที่ทำกันตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งของจีน (คศ. 960-1279) และถูกนำเขาไปในญี่ปุ่นพร้อมกับพุทธศาสนา ราว คศ. 1191  ซึ่งต่อมาในญี่ปุ่นได้พัฒนาเทคนิคการบดชาของตนเองในขั้นตอนการผลิตขึ้น และกลายเป็นวัฒนธรรมที่มีรูปแบบเฉพาะของตนขึ้นในกาลต่อมา  ส่วนในจีนกลับเสื่อมความนิยมลงจนหมดไป

 

matcha ที่ทำกันขึ้นมีคุณภาพหลากหลายระดับ อาจจะจำแนกง่ายๆออกเป็น 3 ระดับ ตามภาพที่เก็บมาเปรียบเทียบให้เห็น คือ

1 matcha ที่ใช้ทำขนม (bakery grade matcha) ัดเป็นพวกที่มีคุณภาพต่ำสุด ใช้ในการทำขนมต่างๆ ให้รส "ชาเขียว"   ชาในคุณภาพระดับนี้ หากนำมาชงเป็นเครื่องดื่มจะมีรสฝาดจัด ไม่มีกลิ่นหอมชวนกิน ให้รสสัมผัสที่หยาบกระด้าง  ผงชาจะมีสีเขียวออกไปทางอมเหลือง สีด้าน คล้ายสีเปลือกผลมะกอก

2 matcha ทั่วไป (general matcha) เป็นชาในระดับที่ใช้เป็นเครื่องดื่มได้  มีรสสัมผัสที่ละเอียดขึ้นราวเม็ดทราย เริ่มมีกลิ่นชาที่หอม ผงชาออกไปทางสีเขียวมากขึ้น คล้ายสีใบตองอ่อน แต่เป็นสีเขียวด้านๆ

3 matcha คุณภาพสูง (quality matcha) เป็นชาที่ผ่านการเตรียมมาอย่างปราณีต ใช้ในพิธีชา เป็นกลุ่มชาญี่ปุ่นที่มีราคาต่อหน่วยน้ำหนักที่สูงมาก ชาให้รสสัมผัสที่นุ่มนวล ลื่น เนียนละเอียดเป็นแพรไหม มีความมัน และกลิ่นที่หอมอวล มีรสท้ายค้างปากอันปราณีต ยาวนาน มีความฝาดน้อยมาก ผงชาจะมีสีเขียวเรืองแสง สดเปล่งปลั่ง


จงรักษ์  มีค. 2011

การเตรียม matcha


การเตรียม matcha
                                                    โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

matcha เป็นชาเขียวที่ถูกป่นจนเป็นผงละเอียด  ภาพที่เจนตา คือ ภาพในพิธีชาที่คนสวมชุดกิโมโนตักผง matcha จากกระปุกใส่ลงถ้วย แล้วใช้แปรงตี จนผงชาเข้าเป็นเนื้อเดียวกับน้ำร้อนสำเร็จเป็นน้ำชา  แต่มีใครกี่คนที่รู้ัว่า ก่อน matcha จะมาเป็นผงชาในกระปุกชาพร้อมใช้ในพิธี จำเป็นต้องมีกระบวนการเตรียมไม่น้อย

matcha ในปัจจุบัน ซึ่งซื้อหากันมาจะเป็นชาป่นที่ถูกบรรจุในถุงปิดผนึงเรียบร้อย  แม้จะเป็นชาที่ถูกป่นมาแล้ว แต่ด้วยเวลาที่อยู่ในถุงอาจทำให้ผงชาจับตัวกัน เมื่อเติมน้ำร้อนลงไปจะจับตัวกันเป็นก้อนๆ ตีให้กระจายตัวในน้ำร้อนไม่ได้  การเตรียมผงชาที่ว่า ก็คือ การทำให้ผงชากระจายตัวได้ดี เมื่อเติมน้ำร้อนแล้วสามารถตีให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ง่าย  มีวิธีการดังนี้

อุปกรณ์ที่จำเป็นในการเตรียม matcha คือกระปุกแร่งชา  ในภาพเป็นกระปุกสแตนเลส เมื่อเปิดฝาครอบออก ภายในจะมีเส้นลวดสแตนเลสสานกันเป็นตาข่ายตาถี่ เรียกว่า "แร่ง" ในภาพจะเห็นกรวดมนเกลี้ยงอยู่ ๓ ลูก

ขั้นตอนแรกให้นำ ก้อนกรวด ๓ ลูกออกก่อน แล้วเทผง matcha ลงไปบนแร่ง
ใส่ก้อนกรวดไปบนผงชา
ปิดฝา แล้วเขย่าในแนวราบ (หมายความว่า ทิศทาง ซ้ายๆ-ขวาๆ ไม่ใช่เขย่าขึ้น-ลง) ก้อนกรวดภายในจะทำหน้าที่กดให้ผงชาผ่านแร่งลงไปสู่ก้นภาชนะด้านล่าง
เมื่อผงชาผ่านแร่งไปจนหมด ก็เปิดฝากระปุก และเอาชั้นแร่งออก จะเห็นผงชาที่ฟูเขียวอยู่ก้นภาชนะ ซึ่งเป็นผงชาพร้อมใช้งาน
แม้จะได้ผงชาพร้อมใช้งานแล้ว แต่การเตรียมไม่ได้จบเพียงนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อ คือ การถ่ายผงชา ลงในกระปุกชาที่ใช้ในพิธีชา สำหรับ usui cha (ชาจาง) ภาชนะบรรจุมักมีปากกว้าง จึงใช้ช้อนไม้ไผ่ตัดผงชาที่แร่งแล้วใส่ลงกลางกระปุก ในขณะตักให้กลั้นลมหายใจ และให้เทผงชาจากช้อนลงกระปุกให้พูนเป็นภูเขาโดยมียอดอยู่กลางภาชนะ ซึ่งสมมติกันว่า นี่คือเขาพระสุเมรุ
กระปุกบรรจุ usui cha (ชาจาง) ที่มีไม้ตักชาพาดอยู่บนภาชนะ
ส่วน koi cha (ชาเข้ม) ก็มีวิธีการแร่งชาเช่นเดียวกัน หากต้องตวงปริมาณผงชาที่จะใช้ตามจำนวนแขกเสียก่อน จะได้แร่งชาได้พอใช้หมดพอดี
ถ่าย koi cha ลงกระปุก โดยใช้กรวยช่วยในการบรรจุ

ผงชาที่บรรจุใส่กระปุกเรียบร้อย
บรรจุ koi cha (ชาเข้ม) ที่มีไม้ตักชาพาดอยู่บนภาชนะ
Like ·  · 

ถ้วยชา kohiki


ถ้วยชา kohiki

                                              โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
ถ้วยชา เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการชงมัตจะ (ชาป่น) ถ้วยในภาพเป็นถ้วยที่เรียกว่า 粉引(kohiki) หรือ 粉吹(kofuki)คือ เคลือบแล้วผิวถ้วยดูเหมือนถูกโรยด้วยแป้ง  ถ้วยชาพวกนี้แรกทำในเกาหลี  ต่อมาญี่ปุ่นได้ลักตัวช่างทำเครื่องเคลือบจากเกาหลี ให้มาทำเครื่องเคลือบชนิดนี้ขึ้นในญี่ปุ่น  ลวดลายที่มักจะปรากฏ คือ ใบไผ่ (เห็นเป็นขีดสีดำบนผิวถ้วย) เกิดจากการนำใบไผ่แปะลงบนผิวถ้วยในขณะเผา ทำให้เกิดลวดลายใบไผ่ขึ้น

ทรงของถ้วยชาในภาพ เป็นทรงแบบเกาหลี

ภาพถ่ายระยะใกล้ให้เห็นผิวถ้วย และลายเคลือบที่คล้ายผงแป้ง

ถ้วยชา shino


ถ้วยชา shino

                                            โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
shino เป็นลักษณะการเคลือบ โดยน้ำเคลือบจะมีความหนามาก เหมือนถูกเคลือบด้วยของหนืดๆ การเคลือบแบบนี้มีด้วยกันสามสี คือ ขาว แดง และสีฟ้า เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า  shiro shino, aka shino,และ ne shino ตามลำดับ

ถ้วยชาชิโนะสีขาว (shiro shino)
ผิวเคลือบชิโนะสีขาว
ถ้วยชาชิโนะสีฟ้า (ne shino)
ผิวเคลือบชิโนะสีฟ้า

21 May 2013

จับถือใช้ชามฝา How to Handle a Gaiwan


"จับถือใช้ชามฝา How to Handle a Gaiwan"

โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

การเลือกซื้อชามฝาข้อหนึ่งคือ การเลือกชามฝาที่ขนาดพอเหมาะ จับถนัดมือ  ลองมาดูกันว่าชามฝาเขาจับอย่างไรกันบ้าง วิธีการจับถือขอแบ่งเอาตามการใช้งาน คือ ใช้ชงชาอย่างหนึ่ง กับใช้ดื่มชาอีกอย่างหนึ่ง

Gai Wan of proper size that one can handle at ease should be considered whenbuying a Gai Wan. Method of handling is depended upon the Gai Wan’s usages,either for brewing tea or for drinking tea.

การใช้ชามฝาชงชา เริ่มจากใส่ใบชาลงในชามฝา และตามด้วยน้ำร้อน จุดสำคัญ คือการรินน้ำชาออกจากชาม โดยกันใบชาให้อยู่ในชาม ไม่ให้ไหลตามน้ำชาออกมา

วิธีที่ ๑ คือ การรินด้วยสองมือ  โดยผลักฝาไปข้างหลังให้ฝาด้านที่อยู่ต่ำหันเข้าหาตัวคนริน ใช้มือทั้ง ๒ ประคองชามฝาทั้งชุดโดยให้หัวแม่โป้งทั้งสองกดอยู่บนฝา เมื่อจะรินชาให้กดหัวแม่โป้งลงต่ำกระดกก้นชามขึ้นสูง ให้น้ำชาไหลออกจากชาม ในด้านตรงข้ามกับที่ชาไหลออกถ้าชงชาด้วยน้ำร้อนจัดจะมีไอร้อนพุ่งขึ้นซึ่งต้องระวังไม่ให้ถูกไอร้อนนี้ลวกมือ ข้อดีของวิธีนี้จับชุดชามฝาได้มั่นคง และรินน้ำชาได้ง่ายไม่ถูกไอร้อนลวกมือ จึงขอแนะนำวิธีนี้สำหรับมือใหม่

BREWING TEA To brew tea in Gai Wan, tea leaves and hotwater are added into the cup covered with the lid. When it reaches anappropriate brewing time, we will pour tea infusion from the Gai Wan, leavingthe tea leaves in the Gai Wan for the following infusions.

Method 1: Two hands handling.  We first slide the lid forward, letting asize of the lid lower than the other. Then, we hold the whole set right infront of the brewer with two hands, cramping the whole set of Gai Wan with boththumbs on the knob and all other fingers under the saucer. Turn the wristsinward gently, but with full confident, pouring tea from the side of lower lid. Hot vapour may rise from the higher lid side when tea is being poured. Care shouldbe taken to avoid the burn by the rising hot vapour. This handling method isrecommended for beginner since it can hold the Gai Wan firmly, pour tea easily,and safe from the burning of hot vapour.



วิธีที่ ๒คือ การรินด้วยมือเดียว ผลักฝาไปข้างหลังเล็กน้อยเช่นเดียวกับวิธีแรก การจับสามารถทำได้หลายวิธีดังรูปให้เลือกวิธีที่ถนัดที่สุด จับได้มั่นคง ไม่ถูกไอน้ำร้อนลวกหากจับไม่มั่นคงชามอาจจะไถลหลุดมือตกแตกและถูกชาลวกมือ

Method 2: Single hand handling. As theprevious method, we first slide the lid letting a slit for tea pouring. Withsingle hand, there are several ways to hold the Gai Wan set as shown in thephotos. Choose the one that you can hold the Gai Wan firmly and pour tea withthe most naturally comfort posture.

การถือป้านชา


"การถือป้านชา"

โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)


การถือป้านชาได้เคยว่าไปทีแล้ว ตอนที่ว่า่ด้วยการเลือกซื้อป้านชา  ป้านชาบางลูกฝา และตัวป้านจะถูกผูกโยงกันไว้ด้วยเชือก จะเป็นการเลี่ยมโซ่เงิน โซ่ทองก็แล้วแต่ความมั่งมี  การจับยกตัวป้าน ก็จะได้ฝาป้านห้อยติดอยู่ด้วย
วิธีจับป้านพวกนี้ คือ ใช้อุ้งมือกำฝาเอาไว้ แล้วจับตัวป้านด้วยนิ้วดังภาพ  ฝาจะไม่แกว่งห้อยโตงเตง ใช้งานได้คล่องตัว ลดความเสี่ยงฝาบิ่นจากการกระทบกระแทก

การเลือกชามฝา (ไก้หว่าน 蓋碗) Select a GAI WAN


การเลือกชามฝา (ไก้หว่าน 蓋碗) Select a GAI WAN

โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

ชามฝา เป็นภาชนะที่ใช้ได้ทั้งชงชาแล้วดื่มชา โดยทั่วไปมักเป็นเครื่องกระเบื้อง มีส่วนประกอบ 3 ชิ้น คือ จานรอง, ถ้วย และฝา เหมาะสำหรับชงชาเขียว และชาอูหลงที่ขดเป็นก้อนเนื่องจากมีพื้นที่ให้ใบชาคลายตัวได้มาก  เวลาจะเลือกชามฝาไว้ใช้งานสักใบพอจะมีแนวทางในการเลือกดังนี้

1) ไม่แตกร้าว  เคาะดูจะมีเสียงกังวานใส เสียงไม่แตกพร่า

2) ทนความร้อนของน้ำเดือดได้ ชนิดที่เป็นเครื่องกระเบื้องมักจะไม่มีข้อกังวลเรื่องนี้ส่วนชนิดที่ทำจากแก้วต้องมั่นใจว่าเป็นแก้วชนิดทนความร้อน

3) เลือกขนาดที่เหมาะมือ ไม่ใหญ่เกินไปจนไม่สามารถถือได้

4) ตัวถ้วยควรตั้งได้มั่นคงบนจานไม่โยกคลอนจนล้มได้ง่าย

5) ชามฝาที่ใช้ง่าย คือ ตัวถ้วยจะเบี้ยวเล็กน้อยเมื่อปิดฝาลงตรงๆจะประกบกันไม่สนิท สามารถวางฝาได้เอียงๆดังภาพ ฝาด้านที่วางต่ำคือ ด้านที่เอาไว้รินน้ำชาออกจากถ้วย
6) ขอบถ้วยเรียบเสมอ  ไม่มีความคม มิฉะนั้นอาจจะบาดปากได้ขณะดื่ม


HOW TO SELECT A GAI WAN

GAI WAN, literary translated aslidded bowl, is a utensil of three pieces, saucer, cup and lid. It could bemade of glass and stone, but the most commonly found is ceramic. Gai wan can beused for both tea brewing and drinking cup. The following is an easy guidelinefor selection:

1) No fracture. To check if thereis a fracture, we softly nock the bowl with the knob of its lid. It shouldpronounce a clear metallic sound. A rough and coarse sound may indicatethe present of a fracture.


2) Heat resistant. The one thatmade of ceramic usually can resist to the boiling water. If you are looking fora glass gai wan, choose the borosilicate glass that can resist the heat, notsoda lime glass.

3) Proper size. The size shouldnot too large thus one can handle at ease.

4) Stability. The cup shouldfirmly stand on its saucer. Some model, through rare, the cup’s leg fit tightlyits saucer.

5) Function of imperfection. Acup of good function should not be perfectly round. It is rather oval shape.When the lid is put over the cup on the right perpendicular to the water level,the lid will not fit firmly on the cup but leave a small slit. On a more firmlystanding position, we slide the lid to one side letting one side of the lidlower than the other, as shown in the photo. We pour and drink the brewed teafrom the lower side.

6) Smooth rim. The rim of the cup should be smooth with no sharp edge.




การใช้งานและทำความสะอาดป้านชา HOW TO USE AND CLEAN A TEA POT


การใช้งานและทำความสะอาดป้านชา HOW TO USE AND CLEAN A TEA POT

โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

ป้านชาดินเผาที่เราใช้ชงชา มีวิธีใช้ง่ายๆ คือก่อนใช้ชงชาให้ล่างด้วยน้ำร้อน เมื่อใช้งานเสร็จให้ควักกากชาออกทิ้งแล้วล่างทำความสะอาดด้วยน้ำร้อน  แล้วเปิดฝาทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก่อนจะเก็บ

กากชาหากร้อนมาก ให้หาอุปกรณ์เช่นช้อนไม้ควักออก และไม้ควรใช้ช้อนโลหะเนื่องจากโลหะมีความแข็งมาก อาจทำให้ป้านเกิดรอยขูดขีด

ข้อควรระวัง คือ ไม่ควรใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอกทำความสะอาดป้านชา เนื่องจากป้านชาอาจจะดูดกลิ่นน้ำยาทำความสะอาดและมีกลิ่นติดลงมาในน้ำชาที่ชง

A clay tea pot used for Gong Fu Cha can be simply cared.Wash and rinse the pot with hot water before tea preparation. Again after theusage, remove the brewed tea leaves and wash with hot water. Let the pot drywell without covering with the lid before putting it back in a close package.

To remove hot tea leaves from the pot, a wooden or bambooscoop will be an ideal tool. Never use a metal spoon since the metal couldleave a scratch on the pot surface.

Precaution: never apply any cleansing chemicals on the potsince the pot may absorb the chemicals and release it into the tea infusion.

07 May 2013

ความงามของชาหลากวัฒนธรรม


ความงามของชาหลากวัฒนธรรม 

                                    โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)


มีภาพอยู่ภาพหนึ่ง เป็นภาพรูปจานอาหารเช้าดังแสดง  ถ้าคนดูพอใจในภาพๆนี้เห็นว่ามันงามก็จบภาพๆนี้ก็ยังคงเป็นภาพๆนี้อยู่ต่อไป  แต่ถ้ามองภาพๆนี้แล้ว คนหนึ่งเห็นความงามส่วนที่เป็นไส้กรอก อีกคนเห็นงามในส่วนที่เป็นขนมปังปาดเนยส่วนอีกคนเห็นงานในส่วนไข่ดาว ภาพที่แต่ละคนเห็นงามจะเป็นดังภาพข้างล่าง


เพื่อให้ได้ภาพที่ต้องการ สิ่งที่แต่ละคนต้องทำก็คือทอนสิ่งที่ไม่เป็นที่ต้องการออกคนต้องการภาพไส้กรอกต้องทอนภาพที่อยู่นอกกรอบสีดำออก  ในทำนองเดียวกันคนต้องการภาพขนมปังปาดเนยก็ต้องทอนภาพส่วนที่อยู่นอกกรอบสีแดงออกและคนที่ต้องการภาพไข่ดาวก็ต้องทอนภาพส่วนที่อยู่นอกกรอบสีเขียวออก

ถ้าหากจะเปรียบรสชาติดั้งเดิมแบบดิบๆของชาเป็นภาพเต็มๆทั้งภาพในช่วงเวลาพันถึงสองพันปีที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นได้ตัดทอนความเฝื่อนฝาดออกไปคงไว้ซึ่งความหอมความหวานของชา  คนจีนนอกจากทอนความเฝื่อนฝาดออกไปยังทอนความเขียวออกไปแล้วเชิดชูกลิ่นของดอกไม้ลูกไม้ที่ซ่อนอยู่ภายในให้ปรากฏโดดเด่น ส่วนฝรั่งชาติตะวันตกนั้นเลือกควักตัดเอาส่วนของเนื้อชาแล้วเอามันใส่กรอบของดอกไม้ลูกไม้ผสมออกมาเป็นชาแต่งกลิ่น

ผมมักได้ยินคนที่นิยมชาจีน พูดถึงชาญี่ปุ่นว่าเป็นชาคร่ำครึและล้าหลัง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แน่นอนเนื่องจากชาของญี่ปุ่นไปจากรากวัฒนธรรมจีนตั้งแต่สมัยซ่งในขณะที่จีนเปลี่ยนทัศนะความงามต่อชา ทิ้งชาที่งามตามรสนิยมสมัยซ่งไปสู่ความงามทัศนะใหม่ในช่วงราชวงศ์หมิงและชิง ในทัศนะของจีนที่เห็นภาพไข่ดาวงามขนมปังทาเนยที่งามในทัศนะญี่ปุ่นจึงเป็นส่วนที่ต้องทอนออกหรือให้เหลือไว้ได้เล็กน้อย  เมื่อเอาขนมปังยื่นให้คนที่มองไข่ดาว ขนมปังจึงไม่เข้าตาอย่างแน่นอน

ในแง่ของคนดื่มชา การดื่มชาเพื่อให้ได้เห็นภาพความงามที่หลากหลาย คือ ต้องทำใจกว้างๆว่างๆไว้ เปิดโอกาสให้ได้มองเห็นความงามในมุมอื่นๆที่คนจัดสรรมาให้ชม ณ จุดนี้จึงพอเข้าใจเรื่องที่ โอกาคุระ กล่าวว่า ตอนเด็ก เมื่ีอเขาชื่นชมงานศิลปชิ้นหนึ่งๆ เขาจะรู้สึกขอบคุณผู้สรรสร้างงามศิลปะที่มีความงามที่ถูกใจเขา ต่อเมื่อโตขึ้นเมื่อเขาเรียนรู้ทีจะมองเห็นความงามในงานศิลปะแต่ละชิ้นที่มี เขากลับรู้สึกขอบคุณตนเองที่มองเห็นความงามเหล่านั้น

04 May 2013

ชาที่ชอบ ชาที่ใช่


"ชาที่ชอบ ชาที่ใช่

                  โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)

จากที่มีลูกค้านักชิมชาสาวสิงคโปร์ ได้มาเยี่ยมเยียนที่ร้านและทดลองชิมชาของร้านไปสองตัว  เธอได้เขียนความเห็นของเธอต่อร้านเราในบล็อกของเธอและหนึ่งในความเห็นต่อชาที่ดื่มเธอว่า เธอชอบชาตัวหนึ่ง ส่วนอีกตัวหนึ่งของที่ร้านเรายังดีไม่ถึงระดับที่เธอดื่ม

ความเห็นของเธอทำให้ต้องทบทวนอะไรหลายเรื่อง เรื่องแรกคงเป็นเรื่องรสนิยมคนเราแต่ละคนมีรสนิยมที่แตกต่างกัน สำหรับอาหารบางคนชอบอาหารรสจัดจ้านหลายรสแบบไทยๆบางคนชอบอาหารรสจางๆเรียบง่ายแบบญี่ปุ่นบางคนชอบรสอันซับซ้อนวิจิตรและเข้มข้นของเครื่องเทศแบบอินเดียการที่คนๆ หนึ่งชอบอาหารไทย และกินอาหารฝรั่งไม่ได้เลย ก็ไม่ได้แปลว่าอาหารไทยจะอร่อยเสมอและอาหารฝรั่งจะหาอร่อยไม่เจอเลย แน่นอนอาหารในวัฒนธรรมหนึ่งๆย่อมมีดีกับเลวปะปนระคนกันอยู่เสมอเพียงแต่อาหารที่ถูกปาก อาจจะรู้สึกอร่อย หรือยอมรับกินได้ในระดับที่ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับวัฒนธรรมอาหารในวัฒนธรรมที่ไม่ถูกปาก

เรื่องรสนิยมของชาเป็นเรื่องที่เราต้องรู้จักตัวเอง และรู้จักชา  เรื่องรู้จักตัวเอง คือ รู้ว่าตัวเองชอบหรือต้องการอะไรเรื่องรู้จักชา คือ รู้ว่าชาแต่ละกลุ่ม มีบุคลิกคร่าวๆอย่างไรได้บ้าง เช่น ชากลุ่มชาขาวเป็นชาที่มีรสเบาและจางมากชาเขียวรสเข้มขึ้นมานิดหนึ่ง กลิ่นค่อนข้างเขียวสด ชาหมักน้อยๆ จะมีกลิ่นดอกไม้ชาที่หมักมากขึ้นจะมีกลิ่นผลไม้ลูกไม้และรสที่เข้มข้น และการที่จะรู้ว่าตนเองชอบแบบไหนคงไม่มีวิธีใดที่จะดีกว่าทดลองชิมและได้ชิมมากกว่าหนึ่งตัวในกลุ่มที่มีบุคคลิกคล้ายๆ กัน และก็ควรได้ชิมตัวที่งามพอจะเห็นจุดที่ชอบหรือบุคลิกรวมๆ ของชากลุ่มนั้นๆ ได้ง่าย

การคัดชาเข้าร้าน  นอกจากต้องชิมๆๆ หลายๆ ครั้งหาชาที่ดีพอแล้ว อีกด้านหนึ่งต้องช่วยให้ลูกค้าหาชาที่ต้องตรงกับรสนิยมของลูกค้าให้พบด้วย แม้มีชาดีแต่ไม่ตรงกับรสนิยมคนดื่มก็คงเป็นได้เพียงชาดีแต่ไม่ใช่  พวกเราจึงได้ทดลองทำแผนภูมิให้ลูกค้าได้ทดลองเล่นเพื่อพาชาดีมาพบกับคนที่ใช่ ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม

ในศิลปะการจัดวางของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการจัดดอกไม้การวางภาพวาดภาพเขียน การจัดหินในสวน หรือถ้วยชาญี่ปุ่นที่ทรงเบี้ยวๆ บูดๆ แรกๆ ที่ดูก็มักจะมองไม่เห็นความงามเอาเสียเลยแต่ตามหนังสือที่ลงภาพถ่ายของงานอันเดียวกันนี้กลับรู้สึกว่ามันงดงามมากจนกระทั่งมาสังเกตได้ว่า งานพวกนี้จะถูกจัดวางอย่างจงใจให้มองจากมุมๆ หนึ่งเป็นการเฉพาะ หากเราเอาตัวไปอยู่ไม่ถูกที่ถูกจุด ก็ไม่อาจมองเห็นความงามได้

เช่นเดียวกับชาที่เราเลือกมา นอกจากชงชาให้เป็นน้ำชาที่มีความสวยงามในมุมมองของเราแล้วเรายังคงต้องบอกเป็นนัยๆ ว่าเรามองเห็นมันสวยงามอย่างไร หรือเห็นมันเช่นไร  การบรรยายว่าชามีรสหวาน รสขม รสอมเปรี้ยวแม้จะบอกคุณสมบัติได้ แต่ก็ไม่อาจระบุเป็นปริมาณว่าเปรี้ยวแค่ไหนและมันสัมพันธ์กับรสอื่นอย่างไรจึงต้องหาทางบรรยายชาแต่ละตัวของร้านในลักษณะภาพรวมที่อาจจะเห็นได้เมนูว่ามีบรรยายชาไว้แปลกๆ อ่านขำบ้างไม่ขำบ้าง บางตัวเหมือนผู้หญิง บางตัวเหมือนผู้ชาย บางตัวเหมือนเกย์หนุ่ม หรือพระแก่ๆซึ่งคงจะต้องอาศัยจินตภาพของผู้ดื่มตามไปด้วย และมันก็เป็นมุมมองเพียงมุมเดียว  ที่จริงแล้วคนอื่นๆ ที่ดื่มอาจจะเห็นมุมที่สวยงามอื่นๆ ที่ต่างออกไปก็ได้ แต่ทั้งนี้การมีกลิ่นรสที่คาดหวังชัดเจนเกินไปในใจก่อนดื่มอาจจะปิดกั้นจินตนาการและการมองเห็น เมื่อชาที่ดื่มไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้เป็นอันหมดงาม และไม่เปิดโอกาสให้มองเห็นความงามในมุมอื่นที่แปลกออกไป ทางที่ดีขณะดื่มชาก็ทำใจกว้างๆ โล่งๆ สบายๆ แล้วดื่มชา และตามสังเกตกลิ่นและรสของชาตัวนั้นๆ อย่างปัจจุบันเป็นเวลาประเสริฐสุด ก็น่าจะตักตวงความสนุกจากการดื่มชาได้มากที่สุด