แฟชั่นชาในจีน
โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
เมื่อลองสาวแฟชั่นชาของญี่ปุ่นกลับไปในจีน ก็คงต้องแกะรอยจากพุทธศาสนาเนื่องจากแฟชั่นชาในญี่ปุ่นได้มาจากพระที่ถูกส่งไปเรียนที่จีน
อารยธรรมจีนปรากฏชาเป็นบรรณาการที่ราชสำนักโจวเรียกเอาจากประเทศราชแถบยูนาน ในสมัยนั้นจีนคงใช้ชาในฐานะเครื่องยาชนิดหนึ่งและการที่ต้องเรียกเอาบรรณาการก็เข้าใจได้ว่าชาคงเป็นผลิตผลเฉพาะถิ่นซึ่งไม่มีในอาณาจักรของจีน
ในสมัยฮั่น ชา และถูกใช้เป็นเครื่องดื่ม แต่คงจะถูกจำกัดในแวดวงที่เฉพาะอย่างน้อยเรารู้ว่าบัณฑิตผู้มีอันจะกิน สามารถหาซื้อชาได้หากแต่ต้องเดินทางไปไกลไปหาซื้อในถิ่นเฉพาะ
พอเข้ายุคถัง จากคัมภีร์ฉาจิงซึ่งเป็นตำราเกี่ยวกับชาที่เก่าแก่ที่สุด เรียบเรียงขึ้นโดย ลู่อวี่ จีนน่าจะรู้จักปลูกชาแล้ว และมีแหล่งชาหลายแหล่งกระจายกันไปในหลายพื้นที่ชาที่ดื่มกันในยุคนี้เป็นชาเขียวอัดก้อน ซึ่งต้องนำมาย่างไฟให้อ่อนตัวและแดงก่อนที่จะบด แร่ง แล้วเอาต้มในน้ำเดือด ตามด้วยเครื่องปรุงซึ่งอาจจะมีเกลือขิง เปลือกส้ม ฯลฯ ในยุคถังนี้จีนมีสงครามกับทิเบต และเพื่อสงบศึกจีนได้ส่งเจ้าหญิงเหวินเฉินไปแต่งงานกับกษัตริย์ทิเบตเจ้าหญิงเหวินเฉินได้นำวัฒนธรรมจีนเข้าไปเผยแพร่ในทิเบตด้วย หนึ่งในนั้นคือ ชา วิธีที่ทิเบตเตรียมชาอัดก้อนจากเสฉวนโดยต้มชาในน้ำเดือดแล้วเอาตีผสมให้เข้ากับเนยจามรีและเกลือน่าจะเป็นชาที่มีความใกล้เคียงชาที่ดื่มกันในสมัยถัง
ในสมัยถังนี้ในราชสำนักมีงานเลี้ยงน้ำชาเป็นการรื่นเริงและชาคงเป็นเครื่องดื่มที่ให้สุนทรียรสอันละเมียดสังเกตได้จากความใส่ใจในรายละเอียดของการเตรียมชาที่ปรากฏในคัมภีร์ฉาจิง
พุทธศาสนาคงเข้ามาเป็นที่รู้จักในจีนก่อนหน้านี้อย่างยาวนานแต่ปรากฏให้เห็นว่าราชสำนักส่งทูตไปนำเข้าพระ พร้อมกับคัมภีร์เข้ามาและสร้างวัดม้าขาวขึ้นเป็นวัดแรกในสมัยฮั่น ราวศตวรรษที่ ๑ ต่อมาพุทธศาสนาก็ได้อาศัยการเมืองอุปถัมภ์ให้เติบโตพระถุงซำจั๋งเดินทางไปศึกษาต่อพร้อมกับอัญเชิญพระไตรปิฏกกลับจากอินเดียในราวศตวรรษที่๗ เกิดการแปลพระไตรปิฏกจากสันสกฤตเป็นจีนกันขนาดใหญ่ด้วยราชสำนักอุปถัมภ์
พุทธศาสนาในจีนกับชาเริ่มพบกันเมื่อใดไม่ทราบ แต่ ลู่อวี่ผู้แต่งคัมภีร์ฉาจิงได้อาศัยเติบโตในวัด ก็ได้เริ่มเรียนรู้เรื่องชาจากวัดนี่เอง ซึ่งเป็นเรื่องราวในศตวรรษที่๘ วิถีชีวิตของพระและชาคงจะมีความผูกพันกันพอสมควร จากฤทธิ์ชาที่ทำให้ไม่ง่วงพระจึงดื่มชาเพื่อช่วยในการนั่งสมาธิ และเพื่อให้มีชาดื่มพระจึงต้องปลูกชาและทำชาด้วย เหตุการณ์นี้คงจะเกิดขึ้นจนเป็นวัตรปฏิบัติและเมื่อจะไปตั้งวัดใหม่ หรือไปอยู่จำที่ใดเป็นเวลานานพระก็คงจะนำชาและพันธุ์ชาไปด้วย เพื่อไม่ให้ขาดแคลนชา
แฟชั่นพระที่มักไปควบคู่กับชาเช่นนี้คงมีสืบต่อลงมาเรื่อยๆถึงราชวงศ์ซ่งเพราะปรากฏว่าพระนักศึกษาญี่ปุ่นที่มาเรียนที่เมืองจีนตั้งแต่สมัยถังเรื่อยมาจนถึงสมัยซ่ง ต่างก็พกพาชาและพันธุ์ชากลับญี่ปุ่น เพียงแต่รูปแบบชาในสมัยซ่งเปลี่ยนไปจากชาในสมัยถัง ชาซ่งเป็นชาเขียวอัดเป็นก้อนเมื่อจะเตรียมชาจึงนำมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วจึงใส่น้ำร้อน ใช้แปรงตีให้ผงชารวมเป็นเนื้อเดียวกับน้ำร้อน มัตฉะที่ดื่มกันในญี่ปุ่นปัจจุบัน คือร่องรอยของชาราชวงศ์ซ่ง ที่พอเห็นได้
ส่วนชาเป็นใบๆใช้ลวกน้ำร้อนนั้นเกิดขึ้นในสมัยหมิงและชิงนี่เอง รสนิยมคนจีนเปลี่ยนไปมากเมื่อดูจากลักษณะของชาที่ทำ ที่ในสมัยซ่งคงทำรสเรียบง่ายแต่ลุ่มลึก แต่เมื่อเป็นชาใบลวกน้ำร้อนรสชากลับทำไปในลักษณะที่มีกลิ่นรสฉูดฉาดประดิดประดอย ซึ่งสะท้อนให้เห็นในถ้วยชาและอุปกรณ์ซึ่งในสมัยซ่งมักเป็นถ้วยเคลือบสีเดียวเรียบง่าย ทรงธรรมชาติ แสดงออกด้วยรูปทรง ผิวเนื้อและเทคนิคน้ำเคลือบ เมื่อเข้าสมัยหมิงและชิงถ้วยชากลับเปลี่ยนเป็นเนื้อละเอียดมันวาวเขียนลวดลายประดิดประดอย
ใบชาสับละเอียดชงน้ำ เกิดเมื่ออังกฤษส่งจารบุรุษเข้ามาขโมยพันธุ์ชาจีนไปปลูกยังอินเดียแล้วจึงได้ทำชาแดงโดยใช้เครื่องจักร และเศษฝุ่นของชาที่เป็นขยะในแง่เครื่องดื่มเพื่อสุนทรียรสก็ถูกจับแปลงใส่ถุงชาให้กลับมาใช้ชงแบบจุ่มน้ำร้อน เป็นความชาญฉลาดในการล้างความรังเกียจการดื่มน้ำจากเศษขยะชาเหล่านี้พร้อมโกยกำไรมหาศาล