11 February 2014

ถ้วยชา kohiki

ถ้วยชา kohiki

โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
ถ้วยชา เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการชงมัตจะ (ชาป่น) ถ้วยในภาพเป็นถ้วยที่เรียกว่า 粉引(kohiki) หรือ 粉吹(kofuki)คือ เคลือบแล้วผิวถ้วยดูเหมือนถูกโรยด้วยแป้ง  ถ้วยชาพวกนี้แรกทำในเกาหลี  ต่อมาญี่ปุ่นได้ลักตัวช่างทำเครื่องเคลือบจากเกาหลี ให้มาทำเครื่องเคลือบชนิดนี้ขึ้นในญี่ปุ่น  ลวดลายที่มักจะปรากฏ คือ ใบไผ่ (เห็นเป็นขีดสีดำบนผิวถ้วย) เกิดจากการนำใบไผ่แปะลงบนผิวถ้วยในขณะเผา ทำให้เกิดลวดลายใบไผ่ขึ้น

ทรงของถ้วยชาในภาพ เป็นทรงแบบเกาหลี


ภาพถ่ายระยะใกล้ให้เห็นผิวถ้วย และลายเคลือบที่คล้ายผงแป้ง

บันทึกชา กว่าจะมาเป็นชาเกาหลี

บันทึกชา กว่าจะมาเป็นชาเกาหลี

โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
เกาหลีรับชาจากจีนผ่านพระภิกษุทีเข้ามาเผยแพร่ศาสนาพุทธแบบมหายานชาจึงจับกับศาสนาพุทธอย่างแน่นแฟ้น  เข้าใจว่าพุทธศาสนาในเกาหลีคงจะเข้าไปเกี่ยวข้องซ่องเสพย์กับขั้วอำนาจทางการเมืองอย่างมากเช่นเดียวกับพุทธศาสนาสมัยพระนางบูเช็กเทียน และพุทธศาสนาในอินเดีย เมื่อมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองพุทธศาสนาก็จะถูกกวาดล้างให้ออกไปพร้อมกับขั้วอำนาจเก่าที่เสื่อมลง ในเกาหลีก็เช่นกัน มีศาสนาขงจื้อเข้าแทนที่ในฐานะศาสนาแห่งรัฐ  พุทธศาสนาก็ถูกดันออกไป พระถูกขับให้ออกไปอยู่อย่างสันโดษในป่าชาที่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนาก็ถูกดันออกไปพร้อมๆกับพระ  การเรียนรู้เรื่องชาจึงจำกัดผ่านทางพระ  ในปัจจุบันโรงเรียนสอนชงชาต่างๆในเกาหลีที่ไปสืบการชงชาจากวัด จึงอยู่ในรูปที่ต่างคนต่างสอนกันไป การสอนถูกผูกกับตัวบุคคลยังไม่ได้เกิดการตกผลึกจนเกิดเป็นสถาบันเป็นสำนักที่มีแนวทางที่ชัดเจนอย่างญี่ปุ่น

บันทึกชา ความเท่าเทียมกันในห้องชา

บันทึกชา ความเท่าเทียมกันในห้องชา

โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
ในพิธีชาญี่ปุ่นมักจะมีคำพูดว่า ทุกคนในห้องชามีความเท่าเทียมกัน  แต่จะเป็นไปได้จริงๆในสังคมญี่ปุ่นที่เป็นสังคมที่มีชนชั้นกระนั้นหรือ

ในแง่ของความเท่าเทียม ผู้เข้าร่วมในพิธีชา จะหลีกเลี่ยงการสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นเครื่องแสดงฐานะดาบที่บ่งสถานะชนชั้นนักรบไม่ได้รับอนุญาตให้พกเข้ามาในห้องชาแต่กระนั้นการแสดงความเคารพของชนชั้นนักรบก็มีท่าทางเฉพาะที่แตกต่างจากสามัญชนออกไปผู้เข้าร่วมพิธีชาจึงควรใช้วิจารณญาณว่าจะทำตัวให้แตกต่างหรือกลมกลืนกับคนอื่นๆ

สำหรับแบบแผนการจัดพิธีชาก็น่าสังเกตว่า ได้กำหนดให้ใช้ชามเทนโมกุตั้งบนขาที่ทำจากไม้ลงรัก สำหรับจักรพรรดิ และพิธีชาสำหรับบุคคลสำคัญ ซึ่งโบราณหมายถึงเจ้าผู้ครองแคว้น ให้ใช้ชามฮาคุจิ (ชามพื้นขาว) ตั้งบนขาไม้เปลือยไม่เคลือบผิวสำหรับเจ้าผู้ครองแคว้นและสำหรับผู้ติดตามที่เขาร่วมในพิธี ให้ใช้ชามอื่นที่ต่างออกไป และแม้แต่แปรงตีชาซึ่งปกติจะใช้ร่วมกันสำหรับตีชาให้แขกทุกคนในกรณีบุคคลสำคัญก็ต้องแยกใช้แปรงตีชาต่างหากออกไป

ชามที่ใช่สำหรับบุคคลสำคัญเหล่านี้เลี่ยมเงินที่ปากชามซึ่งคงจะถูกเพิ่มเติมขึ้นมาภายหลัง ตามความเชื่อว่าเงินมีฤทธิ์แก้พิษได้เพื่อป้องกันการวางยาพิษในชา

ความเท่าเทียมในบริบทของพิธีชาญี่ปุ่นจึงไม่น่าจะเป็นความเท่าเทียมที่จะให้ทุกคนเหมือนๆกัน  หากแต่เป็นการจัดให้เหมาะสมกับฐานานุฐานะของแต่ละบุคคล




บันทึกชา ห้องชาใช้ทำอะไรกัน

บันทึกชา ห้องชาใช้ทำอะไรกัน

โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
ในสมัยโชกุนอาชิคางะปกครองญี่ปุ่น ซึ่งเรียกกันว่า สมัยมุโรมาจิการเสพย์ชาด้วยความบันเทิงเริงรมย์ทำกันในห้องหนังสือ โดยชาถูกเตรียมจากภายนอกห้องแล้วยกเข้ามาหรือไม่ก็กั้นส่วนหนึ่งของห้องไว้สำหรับเตรียมชา เมื่อ จูโค มุราตะ ริเริ่มการดื่มชาเพื่อเข้าหาความสงบอย่างพระจึงได้ลดทอนความหรูหราฟุ่มเฟือยลง เข้าหาความเรียบง่ายและความสงบ จูโคได้ริเริ่มสร้างห้องเฉพาะสำหรับดื่มชาขึ้นต่อมาพัฒนาจนเป็นอาคารแยกเฉพาะสำหรับดื่มชาในสมัย เซน โนะ ริกคิว

ในช่วงสมัยของ จูโก ตระกูลอาชิคางะ ได้เริ่มเสื่อมความมั่นคงทางการเมืองและเริ่มต้นยุคสงครามกลางเมืองระหว่างแคว้นต่างๆกระทั่ง โนบุนางะ โอดะสามารถรวบรวมอำนาจได้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ซึ่ง โนบุนางะ โอดะ นี่เองเป็นคนที่ เซนโนะ ริกคิว รับใช้ในฐานะคนชงชา

ห้องชา หากว่าตามชื่อก็ว่าเอาไว้สำหรับดื่มชา แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ของงานศิลปะและความงามห้องชาประดับไปด้วยงานศิลปะ และอุปกรณ์ชาที่มีคุณค่าเชิงศิลปะ จึงเป็นพื้นที่ให้ผู้ร่วมในพิธีชาได้ชื่นชมกับศิลปวัตถุต่างๆ  ห้องชาจึงทำหน้าที่เป็นพิพิธภัณฑ์ คือใช้เป็นห้องเรียนงานทางศิลปะต่างๆที่มี

ด้วยพื้นที่ห้องชาถูกถือเสมือนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งความสันโดษและสงบห้องชาจึงถูกใช้งานต่างๆทางการเมืองด้วยโดยเฉพาะในยุคที่มีความเข้มข้นของกิจการทางทหารและการเมืองระหว่างช่วงสมัยแห่งสงครามและการชิงอำนาจ ห้องชาถูกใช้เป็นที่นัดพบประชุมลับเพื่อก่อการทางการเมืองหรือกับทั้งเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง ห้องชาถูกปรับเพื่อรับใช้หน้าที่ดังกล่าวทางการเมืองด้วยอาคารญี่ปุ่นเป็นอาคารยกพื้นสูงขนาดมากพอที่คนจะมุดเข้าไปใต้พื้นเพื่อการสอดแนมและลอบสังหาร  ห้องชาถูกออกแบบเพื่อให้หลักประกันความปลอดภัยโดยลดความสูงของพื้นที่ยกลงจนเกือบติดพื้น ซึ่งเตี้ยเกินกว่าคนจะสามารถมุดเข้าไปแอบซ่อนอยู่ภายใต้อาคารได้พื้นที่โดยรอบห้องชาเป็นพื้นที่โล่งว่างสามารถมองเห็นได้โดยรอบยากแก่การแอบซ่อน ห้องชาบางห้องยังถูกออกแบบให้มีผนังปลอมเป็นเพียงฉากที่มีนักรบซ่อนอยู่ข้างหลัง และสามารถบุกทะลวงเขาอารักขาผู้อยู่ในห้องชาได้อย่างรวดเร็วอีกทั้งห้องชายังเป็นพื้นที่ปราศจากอาวุธ นักรบซึ่งพกดาบตลอดเวลาจะต้องปลดดาบแขวนไว้นอกห้องชาก่อนจะเข้าสู่ห้องชา  แม้ในยุคแรกๆจะอนุญาตให้พกดาบสั้นเข้าไปในห้องชาด้วยก็ตามหากแต่การจับถือดาบในห้องชาก็ต้องจับถือด้วยท่าที่แสดงความไม่คุกคาม โดยเป็นท่าที่ไม่สามารถชักดาบใช้เป็นอาวุธได้สะดวกและในเวลาต่อมาพัดก็ถูกพกเข้ามาในห้องชา ในฐานะตัวแทนของดาบห้องชาจึงเป็นพื้นที่ปราศจากอาวุธโดยสิ้นเชิง

ในช่วงที่ชากำลังเฟื่องฟูตรงกับช่วงที่พวกเยซูอิดเข้ามาสอนศาสนาในญี่ปุ่น เพื่อให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นนักบวชเยซูอิดห่มจีวรแบบพระ และจัดให้มีห้องชาพร้อมคนชงชาในบ้านของพวกเยซูอิด  ห้องชาถูกใช้เป็นที่ประกอบพิธีมิสซา  ถ้ำชาและอุปกรณ์ชาถูกดัดแปลงให้เป็นภาชนะประกอบพิธีอย่างแนบเนียน


ในบริบทสังคมไทยพื้นที่ห้องชาจะว่าไปก็เป็นพื้นที่ที่มีสถานะพิเศษคล้ายพื้นที่โบสถ์ ซึ่งถูกอาศัยใช้หลบราชภัย น่าคิดอยู่ว่าโบสถ์ถูกใช้ในหน้าที่อื่นอีกหรือไม่

明々庵

03 February 2014

บันทึกชา หน้าที่คนชงชา

บันทึกชา หน้าที่คนชงชา

โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
ในญี่ปุ่นในยุคที่ชาเฟื่องฟู ชนชั้นบนพากันเสพย์ชากันเป็นแฟชั่นตรงกับช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองขาดเสถียรภาพการสืบทอดทายาททางการเมืองของโชกุนอาชิคางะเป็นประเด็นที่ถูกหยิบขึ้นมาเพื่อช่วงชิงอำนาจ โดยต่างฝ่ายต่างสนับสนุนทายาทคนละคนการแย่งอำนาจเป็นไปอย่างดุเดือดเกิดเป็นสงครามกลางเมืองระบาดไปทั่วญี่ปุ่น

ยุคนี้ชาเฟื่องฟูมาก ขนาดผู้บัญชาการรบบนหลังม้า ก็ยังดื่มชาบนหลังม้าจนเกิดชาที่เรียกว่า บาโจไฮ (ถ้วยบนหลังม้า)การรบการชิงชัยชนะและอำนาจอยู่ในหัวจิตหัวใจของนักรบผู้ปกครอง  การประชุมนัดแนะที่เป็นความลับสำคัญเกิดในห้องชา แล้วคนชงชาที่อยู่ ณ ที่แห่งนั้นจะทำอะไรได้บ้าง


เซน โนะ ริกคิวปรมาจารย์คนสำคัญที่ทำให้พิธีชาเกิดเป็นระเบียบแบบแผนที่ตกผลึกเอง ก็ถูกใช้ให้เดินทางไปทั่วประเทศทำหน้าที่นำสารจากนายของตน ไปยังนักรบคนอื่นโดยผ่านคนชงชาประจำตัวนักรบคนนั้นคนชงชาเองยังทำหน้าที่เจรจาต่อรองในเหตุบ้านการเมืองนอกจากนี้เรื่องที่เกิดขึ้นในห้องชงชามีหรือที่คนชงชาจะไม่รู้แล้วจะมีหรือที่คนชงชาไม่รับงานเป็นสายลับในช่วงสงคราม

ด้านหน้าของถ้วยชา

ด้านหน้าของถ้วยชา

โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
ในพิธีชาของญี่ปุ่น สิ่งหนึ่งที่สังเกตกันมากที่สุด คือเวลารับถ้วยชามาดื่ม ก่อนดื่มก็ต้องจับถ้วยหมุนๆแล้วค่อยดื่มคำถามคือหมุนถ้วยทำไม?
คำตอบ คือ เพื่อความงาม คนชงชาจะหันด้านหน้าของถ้วย ซึ่งเป็นด้านที่งามที่สุดของถ้วยชาให้ผู้ดื่ม  เพื่อให้ผู้ดื่มได้มองด้านที่เห็นความงามของถ้วยสวยที่สุด  เมื่อผู้ดื่มรับถ้วยชามาก็จะหมุนถ้วยเพื่อหันด้านหน้าที่เป็นด้านที่งามของถ้วยออกให้คนอื่นๆทัศนาแล้วดื่มชาจากด้านหลังของถ้วยซึ่งอยู่ด้านตรงข้ามกับด้านหน้าของถ้วย

คำถามต่อมาด้านไหนของถ้วยที่เรียกว่าด้านหน้า?
สำหรับนักเรียนชงชามักจะถามอาจารย์ผู้สอนชงชาให้ชี้หรือบอกว่าด้านไหนเป็นด้านหน้าของถ้วย ซึ่งบางทีช่างคนที่ทำถ้วยขึ้นก็จะเป็นคนกำหนดด้านหน้าของถ้วย  หรือช่างคนที่ทำถ้วยขึ้น  แล้วเราจะต้องยึดถือเอาด้านที่อาจารย์หรือช่างบอกว่าเป็นด้านหน้าของถ้วยแต่ละใบเป็นด้านหน้าตลอดไปหรือไม่  มันก็กลับมาสู่คำนิยามของด้านหน้าของถ้วย คือด้านที่ถ้วยใบนั้นดูงามที่สุด สำหรับผู้ที่เห็นความงาม ด้านใดที่เห็นว่างามก็อาจกำหนดเอาด้านนั้นเป็นด้านหน้าของถ้วย คือด้านที่ต้องการชี้ให้คนอื่นดูให้เห็นความงามตามอย่างที่ตนเห็นแต่เมื่อส่งถ้วยยื่นไปให้คนรับ ก็ทำเพียงชี้ด้านหน้าของถ้วยให้มอง แต่มิอาจบังคับให้คนที่มองด้านหน้าเห็นความงามของถ้วย

ภาพข้างล่างนี้ เป็นภาพของถ้วยใบเดียวกันที่ถูกมองมาจากมุมต่างๆกัน ชามก็ไม่ต่างไปจากคน ชามแต่ละใบคนแต่ละคนก็ล้วนมีด้านที่งาม และด้านที่ไม่งาม   บทเรียนนี้ฝึกให้มองหาค้นด้านที่ดีงามของถ้วย เช่นเดียวกับหามองหาความดีงามของคนๆหนึ่ง


แฟชั่นชาในญี่ปุ่น (๒)

แฟชั่นชาในญี่ปุ่น (๒)

โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
จีนเมื่อได้รับชาต่อมาจากอาณาจักรทางตอนใต้ ก็ได้ปรับปรุงชาให้เป็นเครื่องดื่มที่มีกลิ่นรสอันประณีตการดื่มชาในราชยำนัก สังคมชั้นสูง และผู้มีอันจะกินอาจประกอบได้ด้วยเครื่องบันเทิงเริงรมย์ต่างๆอย่างเต็มที่ทั้งดนตรีอาหาร อุปรากร  แต่วัฒนธรรมชาที่ปรากฏในญี่ปุ่นปัจจุบันกลับเป็นชาที่เรียบง่าย จึงชวนให้สงสัยว่าทั้งๆที่ญี่ปุ่นรับเอาชามากจากจีน ไฉนจึงไม่ได้รับการดื่มชาที่เต็มไปด้วยโลกียสุขอย่างเต็มที่แบบจีนมาด้วย


กระทั่งได้สนทนากับสหายที่ชงชาแบบญี่ปุ่นว่า เดิมทีเดียวญี่ปุ่นได้รับชาจากวัฒนธรรมสายวัดผ่าน พระที่ไปศึกษาที่จีน ซึ่งไปเอาอย่างพระจีนดื่มชาเพื่อให้ไม่ง่วงหลับขณะเข้าสมาธิปฏิบัติธรรม  แต่อีกทางในทางการเมืองและการทูตราชสำนักญี่ปุ่นก็ได้แบบอย่างวัฒนธรรมชาอย่างราชสำนักของจีนเข้ามาด้วย โดยชงชากันในห้องหนังสือนอกจากจะดื่มชา เล่นพนันทายชา เสพย์กำยาน ฯลฯ ซึ่งชาอันเริงรมย์นี้เป็นแฟชั่นในสมัยของโชกุนอาชิคางะ รสนิยมทางศิลป์ในสำนักโชกุนถูกกำหนดโดยผู้รับใช้ในงานซึ่งเกี่ยวข้องกับงานศิลปะต่างๆคนที่มีอิทธิพลมากคนหนึ่งคือ โนอามิ   เมื่อ จูโค มูราตะ ได้เข้าสู่วงการชาและได้ศึกษากับโนอามิ  และได้เริ่มต้นชาที่มีรสนิยมความเรียบง่ายในแบบสายวัดซึ่งเป็นบ่อเกิดของรสนิยมแบบ “วาบิ” ซึ่งได้ส่งทอดต่อมายัง ริกคิว ปรมาจาย์คนสำคัญ  นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนรสนิยมครั้งสำคัญเลยทีเดียว

แฟชั่นชาในจีน(๒) จุดเปลี่ยนแฟชั่นของชนชั้น

แฟชั่นชาในจีน(๒) จุดเปลี่ยนแฟชั่นของชนชั้น


โดย จงรักษ์ กิตติวรการ (ตี่)
ตามที่เคยเขียนไว้ในแฟชั่นชาในจีน เราพอเห็นเลาๆในภาพกว้างว่าแฟชั่นชาโดยเฉพาะชาในสังคมชั้นบนเปลี่ยนจากชาต้มในสมัยราชวงศ์ถัง เป็นชาป่นที่ตีกับน้ำร้อนในยุคซ่งและเข้าสู่ชาใบที่สกัดด้วยน้ำร้อนในสมัยหมิง

ที่น่าสนใจคือ จุดเปลี่ยนจากชาป่น เป็นชาใบ ตามความเสื่อมของกลุ่มอำนาจทางการเมืองของราชวงศ์ซ่งและถูกแทนที่โดยผู้ปกครองราชวงศ์หยวน ซึ่งเป็นชนเผ่าพวกตาร์ด  เกิดอะไรขึ้นกับชาในช่วงนั้นเป็นคำถามคาใจตลอดมา  เมื่อได้พบกับทายาทราชวงศ์ซ่งที่อพยพจากเมืองหลวงตอนที่ซ่งแตก ไปยังเจ๋อเจียงเป็นคนทำชาเขียวและโยกย้ายไปฮกเกี้ยน ทำชาแดงในเขาอู๋อี้ ช่วงปฏิวัติคอมมิวนิสต์  ทายาทท่านนี้ให้ทัศนะที่น่าสนใจว่า

ชาในยุคซ่งชนิดที่ทำเป็นชาอัดก้อนแล้วป่นเป็นผงตีกับน้ำร้อน เป็นชาที่มีขั้นตอนการเตรียมอย่างประณีตต้องใช้เวลาและแรงงานมากในการเตรียม เป็นชาที่ทำขึ้นเพื่อคนชั้นบนเท่านั้นและโดยธรรมชาติของชาเองก็มีเพียงชนชั้นบนที่สามารถเตรียมชามาดื่มได้  ชาพวกนี้เหลือร่องรอยตกค้างเป็นมัตจะในญี่ปุ่นซึ่งก็ยังเป็นชาสำหรับชนชั้นบน และพระอยู่ดี

สำหรับชาวบ้านที่เอื้อมไปดื่มชาป่นไม่ถึงดื่มชาที่ทำหยาบๆง่ายๆ จะเป็นใบชาที่เด็ดมาตากแห้งแล้วลวกน้ำ แค่เอามาลวกน้ำก็พร้อมดื่มปราศจากขั้นตอนการเตรียมที่ยุ่งยากซับซ้อน ชาชาวบ้านจัดได้เป็นพวกชาเขียวซึ่งทำอย่างชาวบ้านง่ายๆ อาจจะเห็นในชาเขียวคั่วแบบที่พวกคนแคะ แต้จิ๋ว ไหหลำทำกัน   เมื่อชนชั้นบนราชวงศ์ซ่งหมดไปจากเหตุสิ้นอำนาจทางการเมืองถูกแทนที่ด้วยผู้ปกครองใหม่ที่ไม่ดื่มชา ความต้องการชาป่นอย่างประณีตก็หมดไปด้วยการดื่มชาในระดับชาวบ้านจึงเป็นชาใบง่ายๆ เมื่อราชวงศ์หยวนเสื่อมอำนาจลง และถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์หมิงซึ่งปฐมกษัตริย์แม้เป็นชาวฮั่น แต่ก็เป็นชนชั้นล่างโดยกำพืดจะเป็นด้วยไม่อาจจะสืบหาฟื้นฟูชาป่นมาเสพย์หรือไม่ต้องพระทัยในรสนิยมชาป่นก็แล้วแต่ ราชสำนักหมิงไม่ได้สั่งให้ผลิตชาประณีตอย่างราชวงศ์ซ่งอีกทำให้ชาป่นเป็นอันสูญไปจากแผ่นดินจีน จีนกลับหันไปจับชาใบลวกน้ำ  พร้อมกับมีการปรับปรุงให้มีความประณีตขึ้นและมีความหลากหลายขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งก่อนหน้าที่จะเกิดชาขวดพลาสติคซึ่งถูกทำให้ง่ายขึ้นอีกขั้น ให้เหมาะกับความเร่งรีบของชีวิตชนชั้นล่างยุคใหม่